ลุงฟาง ทำนาโดยไม่ต้องทำนา

newsในอัลบั้ม “หากหัวใจยังรักควาย” ของวงคาราบาว เพลงชุดท้ายในแผ่นที่ 2 มีชื่อว่า “ลุงฟาง”
เพลงนี้เกิดมาจากการเรียบเรียงเรื่องราวของชายชาวญี่ปุ่นที่ชื่อมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ชายผู้ที่กลับคืนสู่วิธีธรรมชาติด้วยการทำนาโดยไม่ต้องทำนา เก็บเวลาไว้คุยกับตะวัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงนี้ทำให้หลายคนรู้จักมาซาโนบุ ฟูกูโอกะไม่ต่างจากหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” (ในชื่อภาษาไทย) ที่เขาเขียน
แต่ปัจจุบันศาสตร์ที่ว่าด้วยการ “ทำนา โดยไม่ต้องทำนา” นี้ ดูจะกลายเป็นวิถีที่ล้าหลังและโบราณไม่ต่างจากอายุของลุงฟาง
ในวันที่เทคโนโลยียกระดับขีดความสามารถไปข้างหน้าเพื่อสนองต่อความต้องการบริโภคจำนวนมากของคนบางกลุ่ม หลักปฏิบัติ 4 ข้อ ใจความสำคัญอันว่าด้วย (1) ไม่ไถพรวนดิน (2) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก (3) ไม่จำกัดวัชพืช ไม่ว่าด้วยการถากถางหรือใช้ยากำจัดวัชพืช (4) ไม่ใช้สารเคมี ดูจะเป็นสิ่งไม่ทันกาล
เพราะถึงจะมีข้อดี (1. สมดุลทางธรรมชาติไม่ถูกทำลาย 2.) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อคนและสัตว์ 3.) สามารถปรับปรุงการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมให้ดีขึ้น 4.) ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพปราศจากสารพิษ 5.) ลดต้นทุนการผลิต และใช้แรงงานน้อย) แต่ก็มีสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อเสียเช่นกัน
1.) ต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ 2.) เห็นผลช้า ไม่รวดเร็วทันใจ 3.) เกษตรกรต้องมีความพยายามและมีความอดทน 4.) ผลิตผลไม่สวยงามเมื่อเทียบกับการเกษตรสมัยใหม่ 5.) ไม่สามารถผลิตเป็นการค้าได้ทีละมากๆ
ซึ่งข้อเสียที่ว่า ส่งผลบรรษัทให้ข้ามชาติ และในชาติหลายรายผลิตสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการเติบโตของพืชผลให้แก่เกษตรกรออกขายสู่ตลอดอย่างทันท่วงที

news

ไม่ใช่ว่าจะเห็นนวัตกรรมนี้ว่าดีกว่า แต่สิ่งที่ว่าดีก็มีข้อเสียเหมือนกับที่การทำนาโดยไม่ต้องทำนามีข้อเสียเช่นกัน
กลางเดือนมกราคม ไทยตกเป็นข่าวใหญ่ในเวทีโลก เมื่อทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ได้ทำการระงับส่งออกสินค้าพืชผัก 16 ชนิด อาทิ กะเพรา โหระพา พริกขี้หนู ฯลฯ จากประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการตรวจพบว่าพืชผักที่ว่านั้นมีสารเคมีตกค้างจากการผลิต
หลังจากเกิดเรื่องนี้ขึ้น ผู้ใหญ่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ออกมาประกาศกร้าวว่าต่อไปนี้จะตรวจสอบผู้ ส่งออกสินค้าทางการเกษตรอย่างจริงจัง ใครที่ส่งของผิดหลักคุณภาพมาจะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด
ถึงกระนั้นในเวลาเดียวเมื่อลองตรวจสอบลงในรายละเอียดก็พบเรื่องชวนตกใจ
ประเทศไทยใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปีละเกือบ 140 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 17,000 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด ในโลกถึง 25,000 ชื่อ ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนพันกว่าชื่อเท่านั้น
สารเคมีที่ใช้กันมากใน ไทยอย่างคาร์โบฟูแรน (ยาฆ่าแมลง) ทางประเทศผู้ผลิตคือสหรัฐอเมริกาได้สั่งเลิกใช้แล้ว และทางกลุ่มประเทศอียูก็ได้ห้ามใช้และนำเข้าอย่างเด็ดขาด
จึงไม่แปลกที่ไทยจะต้องถูกแบนสินค้าส่งออกทางการเกษตร
ลองกลับมาดูใจความสำคัญของการทำนาโดยไม่ต้องทำนาใหม่อีกหน
1) ไม่ไถพรวนดิน 2) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก 3) ไม่จำกัดวัชพืช ไม่ว่าด้วยการถากถางหรือใช้ยากำจัดวัชพืช 4) ไม่ใช้สารเคมี แท้จริงแล้วก็คือ “การแทรกแซงธรรมชาติของมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุด”
หรือจะเรียกว่าเป็นการทำเกษตรแบบดั้งเดิมก็ว่าได้
ลองดูเพิ่มเติมในข้อที่บอกว่าไม่ใช้สารเคมี มีคำอธิบายว่า
“เมื่อพืชอ่อนแอลงเพราะผลจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่การไถพลิกดิน การใช้ปุ๋ย เป็นต้นทำให้เกิดความไร้สมดุลของโรคพืช และแมลงก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ในการเกษตร”
“ธรรมชาตินั้นหากปล่อยไว้ตามลำพังก็จะอยู่ในสภาพสมดุล แมลงที่เป็นอันตรายและโรคพืชมักมีอยู่เสมอแต่ในธรรมชาตินั้นมันจะไม่เกิดขึ้นจนถึงระดับที่ต้องใช้สารที่มีพิษเหล่านั้นเลย”
“วิธีการควบคุมโรคและแมลงที่เหมาะสมคือการปลูกพืชที่แข็งแรง ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์”

นั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า หลักการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะฟื้นฟูดินและระบบนิเวศน์ในไร่นาให้กลับมีชิวิตชีวาพร้อมพรั่งดังเดิม หากยังเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พรรณไม้และพืชผล ทั้งในทางปริมาณและคุณภาพเหนือกว่าเกษตรกรรมแผนใหม่ซึ่งเน้นวิทยาการขั้นสูง
แล้ววันนี้เราจะยังจะกลับไปพึ่งพิงสารเคมีที่ผลต่อการทำลายธรรมชาติอีกทำไม

news

ทำนา แบบไม่ไถ่ ไม่ดำ ไม่ใช้เงิน..!

คำถามชวนหัว.. เมื่อแรกพบกับคุณลุงผมเทา ที่กำลังเล่าเรื่องการทำนาให้ชาวนาฟัง อยู่หน้าบูธแสดงผลงานในนิทรรศการพลังงานฯ ณ งานคุ้มโฮมฯ ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผมจึงยิงคำถามตามในทันใด ทั้งที่รู้สึกแปลกทั้งในเรื่องประเด็นและคนเล่าว่า ลุงเป็นใครกันหนอพูดเสียงดังฟังชัดเหลือเกิน..!

เป้าหมายของผมคือ ไม่ไถ ไม่ดำ ให้ข้าวขึ้นเองตามธรรมชาติ คนส่วนใหญ่ไถนาเพราะกลัวหญ้าการปราบหญ้าอันดับแรก มีอะไรทำอย่างนั้น มีน้ำก็ใช้น้ำ มีต้นไม้ก็ใช้ต้นไม้ มีแรงก็ใช้แรงได้ออกกำลังแปลงออกกำลังกายของผม 16 ไร่ ใช้เครื่องตัดหญ้าแล้วก็แช่ ถ้าไม่มีน้ำก็ตัดไปเรื่อยๆ อย่าให้มันออกดอกและห้ามไถนาเพราะจะทำให้เมล็ดหญ้าที่อยู่ใต้ดินเติบโตขึ้นมาอีก หลังจากนั้น เมื่อแน่ใจว่าไม่มีหญ้าขึ้นแล้วก็ทำการหว่าน
“ผมหว่านข้าวโดยไม่แช่ข้าวเปลือก ไร่ละ 1-2 กิโลกรัม ถ้าจะให้ประหยัดก็ใช้แกลบของตนเองที่ได้จากการเกี่ยวด้วยมือ ผมจะไม่ใช้แกลบของคนอื่นเพราะแกลบจากโรงสีคนอื่นจะได้ทั้งเมล็ดหญ้าและข้าวสารพัดพันธุ์ ทั้งนี้ เศษเหลือจากการสีไม่ได้มีแต่แกลบ แต่มีเมล็ดข้าวด้วย เป็นเมล็ดข้าวที่ยังมีจมูกข้าว และไม่ต้องใช้มาก ตารางเมตรหนึ่งแค่ 3 กอ ถ้าได้ 5 กอก็ถือว่าสุดยอดแล้ว พอได้เวลาเกี่ยวก็ไปบอกคนที่ต้องการซื้อข้าวมาเกี่ยวข้าวแบ่งกันได้ผลผลิต ต่อไร่ประมาณ 7-8 ร้อยกิโลกรัม แม้จะได้ผลผลิตน้อยกว่าการดำนา แต่การทำนาแบบผสมไม่มีต้นทุน
             “ประเด็นสำคัญคือ ต้องใช้ความรู้มากกว่าความเชื่อ เปลี่ยนความคิดให้อยากจะพึ่งตนเองก่อน และใช้สิ่งที่เรามีมากกว่าสิ่งที่เราไม่มี ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้ความเชื่อที่ทำกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแล้ว
              “อย่างการทำป่าล้อมนา คือการนำของเก่ากลับคืนมา ชาวบ้านเขาจะตัดต้นไม้ออกหมด เราก็ทำสวนทางความคิดชาวบ้าน เพราะเขากลัวต้นไม้จะหงำหมายถึงกลัวต้นไม้จะแข่งกับต้นข้าว ซึ่งการแข่งขันนั้นมีสองส่วนคือ แข่งขันที่รากและแข่งขันที่ยอด
“ราก เราใช้ร่องน้ำกัน ส่วนยอดเราตัดก็จบที่เหลือก็มีแต่ข้อดี ใบไม้ร่วงมากลายเป็นปุ๋ยตลอดทำบนพื้นที่นาประมาณ 4-5 ไร่กำลังสวย ต้นไม้จะเป็นพี่เลี้ยง ให้ทั้งอินทรียวัตถุ ป้องกันลม วงจรชีวิตของสัตว์ต่างๆ ระบบนิเวศ พึ่งพาอาศัยกัน ไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะธรรมชาติดูแลตัวเอง ป่าคือทรัพยากรพื้นฐานที่เป็นตัวกลางในการนำพาทุกอย่างมาพึ่งพาอาศัยกัน และพยายามปลูกแนวตะวันออกไปตะวันตกอย่าปลูกแนวเหนือไปใต้ เพราะต้นไม้จะบังแสงแดด
“นี่คือหลักการใช้ความรู้และใช้ทรัพยากรที่มีทุกอย่างคลี่คลายหมด เราเลือกข้าวเอง กินเอง ทำแบบคนจน แต่มีความรู้ และจะไม่มีวันจน เพราะไม่มีทุน ทุนคือแรง ยิ่งลงเท่าไหร่ก็ได้กำไรเท่านั้น
              “และข้าวที่ได้มาต้อง กิน-แจก-แลก-ขาย สังคมไทยต้องมี 4 ข้อนี้ ถ้าคุณไม่กิน คุณก็จะทำแบบห่วยๆ ชุ่ยๆ ใส่ปุ๋ยเคมีมากมาย มีข้าวแล้วไม่แจกก็ไม่มีเพื่อน ไม่แลกก็ไม่มีฐานทรัพยากรไว้ใช้ ไม่ขายก็ไม่มีปัจจัยมาสร้างอะไรได้ จึงต้องมี 4 ข้อ และห้ามข้ามขั้นตอน”
หลังจากการพูดคุยอย่างออกรส จนผมต้องมาตามชมต่อที่บ้าน โดยตามเข้าไปในว็บบล็อกและได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเนื่องจากการทดลอง ปลูกข้าวโดยไม่ต้องไถนี้ โดย นายอนุวัฒน์  เจิมปรุ นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ปีที่ 2 ได้ลงพื้นที่ทำการเก็บข้อมูลในแปลงนาของ ลุงแสวง  วัดผลผลิตข้าวได้ 177 รวง/ตารางเมตร ฟางข้าวสด 2.3 กิโลกรัม/ตารางเมตร มีวัชพืชปน 34 ตัน/ตารางเมตร น้ำหนักสด 300 กรัม/ตารางเมตร เมล็ดข้าวต่อรวงเฉลี่ย 150 เมล็ด/รวง มีเมล็ดลีบเพียง 1.5% ได้ผลผลิตประมาณ 600-700 กิโลกรัม/ไร่
ดร.แสวง  รวยสูงเนิน  ลูกชาวนายากจน ข้าวไม่เคยพอกินจึงหนีการทำนาและเลี้ยงวัวควาย ไปอาศัยอยู่วัดจนเรียนจบด้านเกษตรศาสตร์ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานร่วมกับชุมชนจนมีชีวิตครบวงจร นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง และทุ่มเทชีวิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยสนับสนุนการพัฒนาชุดความรู้ด้านการจัดการดินน้ำ ทรัพยากรเกษตร เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารพิษในระบบการผลิตอาหารโดยนำความรู้ไปทดสอบในหลายพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงสู่การเปลี่ยนแปลงแผนและนโยบายในระดับชุมชนพื้นที่และระดับประเทศ

เกือบหนึ่งชั่วโมงของการพูดคุยอย่างออกรสจนคำนำหน้านามว่า “ลุง” เปลี่ยนเป็น “อาจารย์” เมื่อได้เห็นป้ายบูธด้านหน้าเขียนว่า ดร.แสวง รวยสูงเนิน ผู้ท้าทายชาวนาให้หัดเรียนรู้ธรรมชาติแบบน้อบน้อมและเข้าใจกันและกัน พร้อมกับคำยืนยันที่ดังก้องอยู่ในหัวผม ชวนท้าทายความเป็นมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำอย่างเราว่า
“ผมไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ทุกอย่างที่เห็นในวันนี้ต้องดิ้นรนมาแทบตายกว่าจะได้มา นี่คือความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย ถ้าเราทำแบบคนจนเราจะไม่มีวันจน..”

ทำนาแบบไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใช้สารเคมี มีข้อจำกัดและทางเลือกทำได้อย่างไรบ้าง

ผมมีนาแค่ ๔ ไร่จะทำอย่างไรก็ไม่ยาก แต่ชาวบ้านที่มีนา ๒๐ ไร่จะทำอย่างผมไม่ได้ โดยชาวบ้านไม่คิดว่า การทำนาแบบไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใช้สารเคมีนั้น ใช้ความพยายามไม่ต่างกันเท่าไหร่ในแปลงใหญ่-เล็ก แต่ใช้ความรู้กันคนละชุดแน่นอน

 

ปีที่ผ่านมา ผมได้ขยายที่ทำนาเพื่อลดความไม่เข้าใจจากสมาชิกเกษตรกร ที่ว่าผมมีนาแค่ ๔ ไร่จะทำอย่างไรก็ไม่ยาก แต่ชาวบ้านที่มีนา ๒๐ ไร่จะทำอย่างผมไม่ได้ โดยชาวบ้านไม่คิดว่า การทำนาแบบไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใช้สารเคมีนั้น ใช้ความพยายามไม่ต่างกันเท่าไหร่ในแปลงใหญ่-เล็ก แต่ใช้ความรู้กันคนละชุดแน่นอน

 

ผมจึงได้ลองขยายนาเป็น ๑๗ ไร่ ในปีนี้ และกะว่าจะขยายเป็นอย่างน้อย ๒๕ ไร่ในไม่เกิน ๒ ปีข้างหน้า

 

และผมได้พยายามศึกษาแนวคิดการทำนาคลุมฟางของท่านปราชญ์ญี่ปุ่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ แล้วลองมาทบทวนดูจะทำได้อย่างไร ด้วยข้อจำกัดที่ว่า

 

 

  • จะป้องกันไฟลามทุ่งหรือคนแอบมาเผาฟางเล่นได้อย่างไร
  • จะลดการแทะเล็มของสัตว์ หรือจะให้สัตว์ไปกินหญ้าที่ไหน
  • ฟางหนาแค่ไหนจึงจะพอ และไม่หนาเกินไปจนข้าวงอกไม่ได้
  • ถ้าหญ้างอกมาแข่งกับข้าว จะทำอย่างไร

 

ปีที่ผ่านมาผมก็ได้ลองหลายรูปแบบ และปรากฏผลดังนี้

 

  • ทำร่องรอบนา เลี้ยงปลา กันไฟลามทุ่งได้ดี
  • ปลูกพืชคลุมดินบนคันนากันไฟ คนเกรงใจไม่กล้าจุดไฟใกล้ๆนาของผม
  • ทำรั้วกันวัวควาย ปลูกหญ้าให้วัวควายกินต่างหาก วัวควายไม่แสดงอาการโกรธให้เห็น
  • ลองคลุมฟางหนาต่างๆกัน(ไม่เกิน ๓ นิ้ว) ข้าวงอกได้ดี แต่หญ้าจะไม่ค่อยงอก แม้แต่แสงรำไร ที่ผิวดิน
  • บริเวณที่หญ้างอกมากหน่อย ใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายหลังตัดทั้งหมดตอนหญ้าเริ่มออกดอก
  • ผมได้ลองตัดหญ้าหลายความสูง แต่ที่ ๓-๔ นิ้วจากดินดีที่สุด หญ้าจะแตกยอดใหม่ไม่ทันข้าว ถ้าสูงกว่านี้ หญ้าจะแตกตาใหม่อีก
  • ถ้าตัดต่ำกว่านี้ ข้าวจะแตกช้าหน่อย แต่เหมาะกับที่ไม่มีน้ำขัง
  • ถ้ามีน้ำเข้านาหลังตัด จะยิ่งทำให้หญ้าเน่า แต่ข้าวโตไวพ้นน้ำได้เร็ว แต่น้ำไม้ควรเกิน ๘ นิ้ว เพื่อให้ต้นข้าวแตกใหม่แข็งแรง แตกกอดี

วันนี้ผมได้ทางเลือกในการลดการแข่งขันของหญ้าดังนี้

  1. อย่าใช้รถเกี่ยวข้าว เพราะจะเหยียบฟาง ทำให้หญ้างอกมาก
  2. ฟางที่ตั้งอยู่ในนาจะกันหญ้างอกได้บางส่วน แต่ข้าวจะงอกได้
  3. ถ้ามีฟางเพิ่มหรือใบไม้ขนาดเล็ก ใช้คลุมกันหญ้างอก แต่ควรเป็นฟางข้าวพันธุ์เดียวกัน เพื่อลดปัญหาข้าวปนกัน
  4. ถ้ามีน้ำที่ทดเข้านาได้ ให้ทำทันทีหลังข้าวงอกได้ ๒-๓ ใบ
  5. ถ้ามีควายให้ปล่อยควายเข้ากินในนาที่หว่าน ในช่วงไม่มีน้ำขัง ให้กันควายออก เมื่อน้ำขังแช่ หรือเมื่อข้าวเริ่มย่างปล้อง ควาย ๑ ตัวคุมพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า ๒ ไร่
  6. ถ้ามีวัวให้ทำแบบเดียวกับควาย แต่อาจใช้เครื่องตัดหญ้าช่วย ก่อนน้ำขัง หรือทดน้ำเข้านา
  7. ใช้แรงงานคนช่วยถอนในจุดที่หญ้าไม่มากนัก(กรณีแปลงเล็ก)
  8. ถ้ามีคูน้ำรอบนาให้เลี้ยงปลากินหญ้าแช่น้ำ เช่น ปลาเฉาฮื้อ
  9. (กำลังคิดกำลังลองอยู่ครับ)ใช้คราดแบบตอกตะปูครูดหน้าดินให้เป็นแถบ แบบหลักการของ SRI

สำหรับการกำจัดหอยเชอรี่นั้น ต้องมีบ่อหรือคูน้ำรอบนา ให้ปล่อยปลาจาระเม็ดน้ำจืด (ปลาเปคูแดง)โดยไม่ต้องให้อาหาร ปลาจะคอยกินไข่และลูกหอยเชอรี่ที่ไม่เกิน ๑ ซม.แต่ถ้าปลาโตแล้วอาจกินได้โตกว่านั้น สำหรับปูในนา ใช้ตาข่ายดักตามทางน้ำเข้านาก็แทบหมด ตามเก็บอีกสักหน่อยก็เรียบร้อยครับ

กรุณารอผลการทำนา ๒๕ ไร่แบบคนขี้เกียจ (ชาวบ้านพูด) โดยใช้เวลาตี ๕-๗ โมงเช้า ๓-๕ ทุ่มทุกวัน และวันหยุดที่ว่างไม่ติดประชุมเครือข่าย มาทำนา ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร จะแจ้งให้ทราบ(มีรายละเอียดอีกมากครับ)

ถ้าสนใจและสะดวกมาที่นาผมวันหยุด และนัดล่วงหน้า จะชัดเจนครับ

 

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

 

การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสมุนไพร(เหล้าดองยาหมูหลุม)

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้  

1. ขวดโหลทรงสูง
2. พืชสมุนไพร
3. เบียร์หรือเหล้าสาโท
4. น้ำตาลทรายแดง
5. เหล้าขาว 35 หรือ 40 ดีกรี
6. กระดาษบรุ๊ฟ
7. เชือกฟาง
8. ขวดพลาสติกชนิดฝาปิดเป็นเกลียว

อัตราส่วน
พืชสมุนไพร 1 กิโลกรัม
เบียร์หรือเหล้าสาโท 2 ขวด
น้ำตาลทรายแดง 0.5 กิโลกรัม
เหล้าขาว 2 ขวด
pig26

ขั้นตอนและวิธีการทำ  pig25
1. ล้างสมุนไพรให้สะอาด โดยเฉพาะสมุนไพรที่ขุดมาจากดินและผึ่งลมให้แห้ง
2. หั่นสมุนไพรเป็นชิ้นเล็ก ๆ และบาง ๆ จำนวน 1 กิโลกรัม
3. นำสมุนไพรที่หั่นเรียบร้อยแล้วใส่ในขวดโหล
4. ใส่เบียร์หรือเหล้าสาโท จำนวน 2 ขวดลงไปในขวดโหลให้ท่วมพืชสมุนไพร
5. ปิดฝาขวดโหลด้วยกระดาษบรุ๊ฟและมัดด้วยเชือกฟาง หมักทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง
6. หลังจากหมักครบ 12 ชั่วโมงแล้ว เปิดฝาขวดโหลออกและเติมน้ำตาลทรายแดงจำนวน 0.5 กิโลกรัม ลงไปโดยโรยให้ทั่ว
7. เติมเหล้าขาว 35 หรือ 40 ดีกรีลงไปจำนวน 2 ขวด
8. ปิดฝาขวดโหลด้วยกระดาษบรุ๊ฟ และมัดด้วยเชือกฟางหมักทิ้งไว้ 8-10 วัน
9. เมื่อครบกำหนดให้รินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใส่ขวดพลาสติกให้ได้ปริมาณ 2 ใน 3 ของขวดแล้วปิดฝาขวดให้สนิทเก็บไว้ในที่ร่มและนำไปใช้

อัตราการใช้ น้ำหมักจากพืชสมุนไพร 1 ช้อนต่อน้ำ 10 ลิตร
ข้อบ่งใช้
1. ผสมน้ำดื่มสัตว์ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตและลดความเครียด
2. พ่นตัวสัตว์ เพื่อช่วยทำลาย เห็บ เหา ขี้เรื้อน และผื่นคัน
3. ใช้หมัก ดองกับไม้เนื้ออ่อนทำเป็นหมากฝรั่งให้หมูแทะหรือเคี้ยวเล่น เพื่อคลายความเครียด
4. ผสมจุลินทรีย์ตัวอื่น ๆ รดพื้นคอกและผสมน้ำดื่มสัตว์

หมากฝรั่งหมูหลุม

หมากฝรั่งหมูหลุม  จะช่วยทำให้สุกรไม่เครียดและช่วยการกินอาหารและเจริญอาหารดีขึ้น โดยสุกรจะขบเคี้ยวหรือแทะเล่น เป็นการช่วยทำให้ฟันและกรามสุกรแข็งแรงได้อีกด้วย

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้

1. ไม้เนื้ออ่อน เช่นต้นกระถิน ต้นมันสำปะหลัง ต้นมะละกอ ฯลฯ

2. ถังน้ำ

3. น้ำสะอาด

4. เหล้าดองยาหมูหลุมหรือน้ำหมักจากพืชสมุนไพร

5. กระดาษบรุ๊ฟ

6. เชือกฟาง

ขั้นตอนและวิธีการทำ

1. ตัดไม้เนื้ออ่อนเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 3-5 นิ้ว

2. ใส่น้ำสะอาดลงในถังที่บรรจุน้ำได้ประมาณ 10-15 ลิตร

3. นำไม้เนื้ออ่อนที่เตรียมไว้ลงแช่ในถังน้ำ

4. ใส่เหล้าดองยาหมูหลุม 500 ซีซีและน้ำตาลทรายแดง 300 กรัม

5. ปิดฝาถังด้วยกระดาษบรุ๊ฟ ดองทิ้งไว้ 15 วัน แล้วนำไปใช้

ข้อบ่งใช้ โดยการนำไม้เนื้ออ่อนที่ดองเรียบร้อยแล้วโยนลงในคอกสุกรเพื่อให้สุกรขบเคี้ยวและแทะเล่น เพื่อลดคลายความเครียดและช่วยในการเจริญอาหารได้อีกด้วย

การเตรียมพื้นคอกหมูหลุม

การเตรียมพื้นคอกหมูหลุม

วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย ราคาถูก มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไปแม้กระทั่งเศษวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ก็สามาราถนำกลับมาใช้ได้อีก ทำให้ประหยัดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก วัสดุที่ใช้มีดังนี้คือ
1. แกลบ ขี้เลื่อย หรือวัสดุทางการเกษตร ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฟางข้าวสับ เศษที่เหลือจากการเพาะเห็ด หรือขยะแห้งที่ย่อยสลายได้
2. ดินแดงหรือดินที่ขุดออกจากหลุม
3. ถ่านไม้
4. เกลือเม็ด
5. เชื้อราขาวที่ได้จากธรรมชาติที่อยู่ตามใต้ต้นไผ่ต่าง ๆ
6. น้ำหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติ 7 ชนิด
pig06ขั้นตอนและวิธีการทำ 
1. เตรียมหลุมให้ได้ตามขนาดและจำนวนสุกรที่จะเลี้ยง โดยให้มีความลึก 70-90 เซนติเมตร
2. ชั้นที่ 1 ใส่แกลบ ขี้เลื่อย หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ย่อยสลายได้ ให้สูงประมาณ 35 เซนติเมตร ถ้าขนาดหลุม 3×3 เมตร จะใส่แกลบหรือขี้เลื่อยประมาณ 600 กิโลกรัม
3. ชั้นที่ 2 ใส่ดินแดง หรือดินที่ขุดออกจากหลุม โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 ใส่ให้ทั่ว
4. ชั้นที่ 3 ใส่ถ่านไม้โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 ถ่านไม้ควรทุบให้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำไห้ใส่ให้ทั่วทั้งหลุม
5. ชั้นที่ 4 ใส่เกลือเม็ดโดยใช้ 1 %  ของชั้นที่ 1 โรยให้ทั่ว
6. ชั้นที่ 5 ใส่มูลสัตว์แห้ง (มูลอะไรก็ได้) โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 ใส่ให้ทั่วทั้งหลุม
7. ชั้นที่ 6 ใส่แกลบหรือขี้เลื่อยลงไปให้เต็มทั้งหลุมอย่าให้มองเห็นขอบหลุม
8. เมื่อใส่วัสดุทุกชนิดครบทุกชั้นแล้ว ให้รดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติทั้ง 7 ชนิด และเชื้อราขาว ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร ผสมในบัวเดียวกัน รดให้ชุ่มและโชก
9. เมื่อปฏิบัติทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้วนำสุกรลงเลี้ยงได้เลย
10. เมื่อนำสุกรลงเลี้ยงแล้วให้ใช้น้ำหมักเชื้อจุลินทรีย์ตามข้อ 8  รดตัวสุกรเพื่อล้างสิ่งต่าง ๆ ที่ติดมากับสุกร
11. ผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ในน้ำดื่มเพื่อให้สุกรดื่มกิน อัตราส่วนตามที่ระบุในแต่ละชนิด
12. จัดสภาพแวดล้อมและโรงเรือนให้โปร่งและระบายอากาศได้ดี

การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากผลไม้สุก

การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากผลไม้สุก

ผลไม้ทุกชนิดสามารถนำมาใช้ได้แต่ต้องเป็นผลไม้สุก ไม่เน่า สามารถใช้ร่วมกันหลาย ๆ ชนิดก็ได้แต่ที่ดีที่สุด ได้แก่ กล้วยน้ำหว้า มะละกอ ฟักทอง ที่สำคัญห้ามนำผลไม้ล้างน้ำเด็ดขาด
วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้
1. ผลไม้สุก
2. น้ำตาลทรายแดง
3. โอ่งหรือโหลปากกว้าง
4. กระดาษบรุ๊ฟ
5. เชือกฟาง
6. ขวดพลาสติกชนิดฝาปิดเป็นเกลียว
อัตราส่วน ผลไม้สุก 1 กิโลกรัมต่อน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม (แบ่งเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน) ในกรณีที่ผลไม้มีความหวานมากให้ใช้ผลไม้สุก 2-3 กิโลกรัมต่อน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม

pig10ขั้นตอนและวิธีการทำ
1. หั่นผลไม้สุกให้มีขนาดประมาณ 2- 4 เซนติเมตร
2. นำผลไม้ที่หั่นแล้วไปกองรวมกันและทำให้เป็นกองแบน ๆ แล้วโรยด้วยน้ำตาลทรายแดง ส่วนที่ 1 ลงไปให้ทั่วทั้งกอง
3. ใช้มือคลุกเคล้าผลไม้ให้เข้ากับน้ำตาลทรายแดงเบา ๆ ทำสลับกองไปมาประมาณ 3 ครั้ง จนน้ำตาลสัมผัสกับผลไม้ให้ทั่วทั้งหมด
4. หลังจากคลุกเคล้าผลไม้กับน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว นำไปบรรจุในโหลปากกว้างและกดให้เรียบ
5. นำน้ำตาลทรายแดงส่วนที่ 2 ที่แบ่งไว้โรยทับหน้าให้ทั่วอีกครั้ง(อาจใช้ของหนักทับอีกครั้งได้)
6. ปิดฝาโหลด้วยกระดาษบรุ๊ฟ และมัดด้วยเชือกฟาง นำไปหมักทิ้งไว้ 8-10 วัน
7. หลังครบกำหนดรินใส่ขวดพลาสติกให้ได้ 2 ใน 3 ของขวด ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่มและนำไปใช้

อัตราการใช้ น้ำหมักจากผลไม้สุก 2  ช้อนต่อน้ำ 10 ลิตร เก็บไว้ใช้ได้นาน 3 เดือน ใช้ภายใน 45 วันดีที่สุด 
ข้อบ่งใช้
1. ผสมน้ำให้สัตว์ดื่มช่วยลดกลิ่นเหม็นของมูลและปัสสาวะ
2. ผสมอาหารสัตว์ เพิ่มรดชาติของอาหารและการย่อยได้
3. ราดโคลนต้นพืช ช่วยเร่งการเจริญเติบโต
4. รดกองปุ๋ยหมัก ช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นและการย่อยสลายของวัสดุดีขึ้น
5. ผสมกับจุลินทรีย์ตัวอื่น ๆ รดหรือพ่นคอกสัตว์

การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียวและสด

 

การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียวและสด

พืชสีเขียวที่มีตามธรรมชาติหรือที่หาได้ง่าย ได้แก่ ผักบุ้ง หน่อกล้วย หน่อไม้ หรือผักอื่น ๆ ที่มีสีเขียวและสด เวลาเก็บควรเก็บในตอนเช้า หรือก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นหลังจากเก็บแล้วห้ามนำไปล้างน้ำ
วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้
1. พืชสีเขียวและสด โดยเลือกส่วนที่ดีที่สุด
2. โอ่งหรือโหลปากกว้าง
3.  น้ำตาลทรายแดง
4.  กระดาษบรุ๊ฟ
5.  เชือกฟาง
6.  อิฐหรืออิฐบล็อก (ของหนัก)
7. ขวดพลาสติกชนิดฝาปิดเป็นเกลียว
อัตราส่วน พืชสีเขียว 7 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง 3 กิโลกรัม (แบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน) เกลือเม็ด 0.1 กิโลกรัม

pig09ขั้นตอนและวิธีการทำ

1. หั่นพืชสีเขียวให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร
2. นำพืชสีเขียวที่หั่นแล้ว ไปกองรวมกันโดยขยายกองให้แบนราบพอประมาณ แล้วนำน้ำตาลทรายแดงส่วนที่ 1 โรยลงไปให้ทั่ว
3. ใช้มือคลุกเคล้าน้ำตาลทรายแดงกับชิ้นส่วนของพืชให้เข้ากัน (ทำเบา ๆ)
4. นำไปบรรจุในโหลปากกว้าง และใช้มือกดให้เรียบร้อย
5. ใช้อิฐหรืออิฐบล็อก (ของหนัก) หุ้มด้วยถุงพลาสติกวางทับเพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนของพืชลอย
6. ปิดปากโหลด้วยกระดาษบรุ๊ฟ และมัดด้วยเชือกฟาง ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง จากนั้นเปิดปากโหลเอาของหนักออก แล้วโรยน้ำตาลทรายแดงส่วนที่ 2 และเกลือเม็ดจากนั้นเอาของหนักทับไว้เหมือนเดิม แล้วปิดปากโหลเช่นเดิม หมักทิ้งไว้ 8-10 วัน
7. เมื่อครบกำหนดรินส่วนที่เป็นน้ำออกใส่ขวดให้ได้ ปริมาณ 2 ใน 3 ของขวด
8.  ปิดฝาขวดเก็บไว้ในที่ร่มและนำไปใช้

 

อัตราการใช้ น้ำหมักจากพืช 2 ช้อนต่อน้ำ 10 ลิตร 
ข้อบ่งใช้
1. สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 เดือน
2. ผสมน้ำดื่มสัตว์  ช่วยเสริมสร้างการทำงานของจุลินทรีย์ในตัวสัตว์
3. ผสมอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารและช่วยการย่อยได้ของอาหาร
4. ผสมกับจุลินทรีย์ตัวอื่นๆ รดพื้นคอกสัตว์ช่วยย่อยสลายวัสดุและดับกลิ่นเหม็นของมูลสุกร
5. รดกองปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยทำให้ย่อยสลายเร็วขึ้น
6. ราดโคลนต้นไม้ เพื่อช่วยทำให้เกิดความชุ่มชื้นและดินร่วนซุย

การสร้างโรงเรือนและคอกสำหรับหมูหลุม

การสร้างโรงเรือนและคอกสำหรับหมูหลุม

การสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงหมูหลุม  อันดับแรกต้องเน้นการใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีตามธรรมชาติก่อนเพื่อลดต้นทุนค่าสร้างโรงเรือนให้ได้มากที่สุด การสร้างต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้คือ
1. สถานที่ก่อสร้างโรงเรือน ควรเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม หรืออาจเป็นที่ลุ่มก็ได้ แต่มีที่ระบายน้ำได้ดี อย่าให้น้ำท่วมขังเด็ดขาด
2.  สร้างโรงเรือนตามแนวตะวันออก – ตะวันตก
3. โครงสร้างของโรงเรือน ขึ้นอยู่กับเงินที่จะลงทุนอาจจะใช้โครงสร้างไม้ หรือเหล็กก็ได้ แต่ต้องแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคา ตลอดจนทนทานต่อการถูกลมพัดได้
4. วัสดุมุงหลังคาอยู่ที่เงินลงทุนอาจจะใช้ กระเบื้อง สังกะสี แฝก หรือจาก เป็นต้น อย่าให้หลังคารั่วโดยเด็ดขาด
5. โล่ง และอากาศถ่ายเทได้สะดวก
6. ขนาดของคอกขึ้นอยู่กับปริมาณสุกรที่เลี้ยงโดยสุกรใช้พื้นที่ต่อตัวตั้งแต่เล็กจนถึงขาย 1.2-1.5 ตารางเมตร เช่น ถ้าสร้างคอกขนาด 3×4 เมตร จะเลี้ยงสุกรได้ 8-10 ตัว เป็นต้น
7.  ลักษณะของหลังคาโรงเรือน สามารถ ทำได้หลายรูปแบบ เช่น

แบบเพิงหมาแหงน สร้างง่าย ราคาถูก แต่มีข้อเสีย จะทำให้แสงแดดส่องเข้าไปมากในฤดูร้อน หรือ น้ำฝนจะสาดเข้าได้ง่าย ในฤดูฝน  ดังรูป

pig01

 

 

 

 

 

 

 

pig02แบบเพิงหมาแหงนกลาย เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนิดหน่อย จากแบบเพิงหมาแหงนแต่สามารถป้องกันแสงแดดและฝนสาดได้ดีกว่า  ดังรูป

 

 

 

 

 

 

แบบหน้าจั่ว ราคาก่อสร้างจะสูงกว่าสองแบบแรก แต่ป้องกันแสงแดด และฝนสาดได้ดี ถ้าสร้างสูงจะดี เนื่องจากอากาศภายในโรงเรือนจะเย็นสบาย ระบายอากาศได้ดี แต่ถ้าสร้างต่ำเกินไป จะทำให้อากาศภายในร้อนอบอ้าว  ดังรูป

pig03

 

 

 

 

 

 

 

แบบจั่วสองชั้น หลังคาแบบนี้ปัจจุบันนิยมสร้างกันมากเนื่องจากปลอดภัยจากแสงแดดและฝนสาดได้ดีมาก และภายในโรงเรือน มีการระบายอากาศได้ดีมาก แต่ ราคาการก่อสร้างสูงกว่าแบบอื่น ๆ แต่ ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะสุกรจะอยู่อย่างสบาย ไม่เครียด สุขภาพดี จะส่งผลให้การเจริญเติบโตดีด้วย  ดังรูป

pig24

 

 

 

 

 

 

 

 

การสร้างคอกสำหรับเลี้ยงหมูหลุม 
คอกหมูหลุมจะแตกต่างจากคอกหมูโดยทั่วไป คือ นอกจากมีผนังกั้นคอกแล้ว เรายังขุดหลุมให้ลึกลงไปประมาณ 90 เซนติเมตร แล้วนำวัสดุที่ย่อยสลายได้ใส่ลงไปทดแทนดินที่ขุดออก  ผนังกั้นคอก ขึ้นอยู่กับเงินที่ดำเนินการ อาจใช้ไม้ไผ่ ไม้ระแนง ไม้ยูคาลิปตัส  ก็ได้ หรืออาจจะเป็นผนังอิฐบล็อกก็ได้ โดยเน้นใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงเกินไป คิดเสียว่าจะเป็นผนังแบบไหนก็ได้ ที่สามารถป้องกันไม่ให้สุกรออก มีความแข็งแรง และอายุการใช้งานนานพอสมควร เนื่องจากไม่ต้องซ่อมแซมบ่อยครั้งเกินไป การขุดหลุม ขนาดของหลุมขึ้นอยู่กับจำนวนสุกรที่จะเลี้ยงโดยกำหนดสุกร 1 ตัวใช้พื้นที่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มจนถึงขาย 1.5  ตารางเมตร การขุดหลุมจะขุดหลุมก่อนหรือหลังการสร้างโรงเรือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการทำงาน
วิธีการขุดหลุม 
1. วัดความยาวจากแนวเสาโรงเรือน ซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับการทำผนังกั้นคอก วัดเข้าไปด้านในทั้งสี่ด้าน ๆ ละ 30 เซนติเมตร แล้วทำการขุดลงไปให้ลึก 90 เซนติเมตร (ตื้นกว่านี้ก็ได้)
2. แบ่งครึ่งขอบหลุมส่วนที่เหลือ ทั้งสี่ด้าน และทำการขุดให้ลึกลงไป  30 เซนติเมตร ขุดเป็นรูปคล้ายตัวแอล (L)
3. ใช้อิฐบล็อกก่อบนรูปตัวแอลทั้งสี่ด้าน หรืออาจจะใช้ไม้แบบตีแบบและเทคอนกรีตก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สุกรใช้ปากขุดขอบหลุมพัง
4.  เทพื้นคอนกรีตทับหลังตามแนวที่จะทำผนังกั้นคอกให้ครบทุกด้าน
5. ดินที่ขุดออกให้เก็บไว้ เพื่อนำไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำกลับใส่ลงไปในหลุมเช่นเดิม

ลักษณะของการขุดหลุมpig04

 

 

 

 

 

 

 

pig05

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โรงเรือนเลี้ยงหมูหลุมแบบถาวร ต้นสูงค่อนข้างสูง อายุการใช้งานนาน

การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม)

“ทางเลือกสำหรับเกษตรกร” ต้นทุนต่ำ กำไรดี เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม”

โดย นายสุกิจ ติดชัย  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ 8 ระดับ 8
ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์   สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร   มหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

pig23การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) เป็นทางเลือกทางหนึ่งของเกษตรกร ผู้ที่มีความนิยมชมชอบการเลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการเลี้ยงสุกรที่เลี้ยงกันโดยทั่วไปมีต้นทุนการผลิตสูง วัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้องซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) จะเน้นการใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และในท้องถิ่นเป็นหลัก หาง่าย ราคาถูก แม้กระทั่งวัสดุที่เหลือใช้ต่าง ๆ ก็สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก จึงทำให้สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้เป็นอย่างมาก  อีกทั้งเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพืชกับสัตว์ สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เมื่อมีการปลูกพืชเราสามารถใช้พืชหรือเศษพืชผัก และผลไม้ต่าง ๆ กลับมาทำเป็นอาหารหมูหลุมได้ ในทำนองเดียวกัน พืชก็สามารถใช้ประโยชน์จากหมูหลุมได้เช่นกัน ด้วยการใช้วัสดุที่อยู่ในหลุมไปเป็นปุ๋ย เพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นอาหารของพืชได้ จึงช่วยทำให้การผลิตทั้งพืชและสุกรมีต้นทุนการผลิตลดน้อยลง เกษตรธรรมชาติ คือการนำเอาสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ มาใช้ในการผลิตทางการเกษตร ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี จึงทำให้ได้อาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การทำการเกษตรด้วยวิธีนี้จะเริ่มต้น จากการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่น ได้แก่การผลิตเชื้อราขาว (Indigenous Micro Organism : IMO) โดยใช้หลักการที่ว่าอยู่ที่ไหนให้ผลิตเชื้อจุลินทรีย์จากที่นั่น จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไม่สามารถมองเป็นด้วยตาเปล่าได้ มีประโยชน์ต่อธรรมชาติ ช่วยย่อยสลายวัสดุที่มีตามธรรมชาติ ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน กำจัดกลิ่นเหม็น น้ำเสีย ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม  จุลินทรีย์สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ

1.  จุลินทรีย์กลุ่มที่ให้ประโยชน์ ส่วนใหญ่อยู่ตามบนผิวหน้าดิน ต้องการอากาศในการหายใจ ได้แก่ กลุ่มสังเคราะห์แสง แลคโตบาซิลลัส ยีสต์ และแอสเปอร์จิลลัส จุลลินทรีย์กลุ่มนี้ สามารถสังเคราะห์แสง ผลิตกรดแลคติค และตรึงไนโตรเจนในอากาศได้
2.  จุลินทรีย์กลุ่มที่ให้โทษ จะอาศัยอยู่ในดินลึก ไม่ต้องการอากาศในการหายใจ ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และไส้เดือนฝอย

ข้อดีของการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) 
1.  สามารถใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่น หาง่าย ราคาถูก
2.  ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากมูลสุกรและน้ำเสีย
3.  สามารถเลี้ยงในชุมชนได้ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากมูลสุกรและแมลงวัน
4.  ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดคอกและบำบัดน้ำเสีย
5.   มีระบบการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในคอกหรือหลุมสุกร
6. มูลสุกรและวัสดุในหลุมซึ่งถูกหมักและย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีนำไปเป็นปุ๋ยให้กับพืช ปรับปรุงดินบำรุงดิน หรือจำหน่าย
7.  ต้นทุนการผลิตต่ำโดยเฉพาะต้นทุนด้านอาหารสามารถลดได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
8.  หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

การเลี้ยงหมูหลุมจะให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ถูกหลักวิชาการจะทำให้การเลี้ยงหมูหลุมไม่มีปัญหาไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม มลภาวะไม่เป็นพิษ  ตลอดจนสุขอนามัยของผู้เลี้ยงและสุกรดี  มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

1.  การสร้างโรงเรือนและคอกสำหรับเลี้ยงหมูหลุม
2.  การเตรียมพื้นคอกหมูหลุม
3.  การผลิตเชื้อราขาว หรือจุลินทรีย์ท้องถิ่น (Indigenous Micro Organism:IMO)
4.  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืช มี 3 ชนิด
4.1  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียวและสด ( Fermental Plant Juice : FPJ)
4.2  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากผลไม้สุก (Fermental Fruit Juice : FFJ)
4.3  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสมันไพร (Orient Herb Hormane Nutrial : OHN)
5.  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าว มี 3 ชนิด
5.1  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับเปลือกไข่
5.2  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับถ่านกระดูกสัตว์
5.3  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับนมสด
6.  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ จาก กุ้ง หอย ปู ปลา ไส้เดือน และรกสุกร อย่างใดอย่างหนึ่ง
7.  การทำอาหารหมักสำหรับหมูหลุม
8.  การทำน้ำหมากฝรั่งสำหรับหมูหลุม
9.  การเลี้ยงและการจัดการหมูหลุม