Category Archives: การทำนา

วิธีการทำนาปลอดเคมีและความคิดปลูกข้าว แบบลดต้นทุน เพิ่มกำไร โดย ชัยพล ยิ้มไทร ปริญญาทำนา

ได้ข้อมูล มาจาก เฟสบุ๊ค ของคุณ ชัยพล ยิ้มไทร

บทที่ 1 ไถนา
อุปกรณ์ประกอบไปด้วย รถไถเดินตาม ผาล เลื่อนนั่ง เครื่องตัวนี้ซื้อจากเชียงกง เป็นเครื่อง 10 แรงม้าซื้อมาตัวละ 16000 บาท รถไถซื้อจากร้านขายของเก่ากิโลละ 11บาท เป็นเงิน3240บาท ผาลก็มือสองราคา500 บาท การทำนาไม่จำเป็นต้องเริ่มจากของมือหนึ่งครับ ค่อย ๆหา ค่อย ๆซื้อ ครับ ค่อยเป็นค่อยไป ผมเองเริ่มจากทำนา 9 ไร่ และเครื่องมือราคาประหยัด

หลังจากที่ไถกลบฟางและใส่น้ำไว้สี่ถึงห้าวัน จึงเริ่มใช้ลูกควักพรวนดิน ที่เห็นต่อข้าวเขียว ๆคือ ควักไว้หนึ่งรอบ(ตลบ) และทิ้งไว้หนึ่งคืน ตรงดินดำ ๆคือรอบที่สอง(อีกหนึ่งตลบ) การทำนาไม่เผาฟาง ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องใช้เครื่องมือให้เหมาะสมและให้เวลากับงานบ้างเท่านั้นเอง…ทำนาอย่างเร่งร้อนจนคนชั่วรุ่นหนึ่งกำลังจะจากไป..ไม่เห็นมีความมั่นคงในชีวิตสักที…มาทำช้า ๆกันดีกว่าใหมครับ ^__^” เผื่อชีวิตอาจดีขึ้น..

บทที่ 2 ควักดิน
หลังจากไถนาเสร็จแล้ว ให้ใส่น้ำจมขี้ไถไว้ เพื่อให้ขี้ไถนิ่ม(ยิ่งนานยิ่งดี จะทำให้ฟางเปื่อยและดินเละ) หากมีเวลาก็ควักสักสองรอบ(ตลบ)แล้วทิ้งไว้อีก ข้อดีของลูกควักคือ ทำให้ดินฟู(อุ้มน้ำดี)และลูกควักยังช่วยกระจายกลุ่มฟางที่แน่นหนาออกจากกัน ทำให้ไม่เกิดแก้สฟางเน่า เครื่องมือนี้ลดขั้นตอนการทำนาลงได้มาก ทำให้ดินกลายเป็นเทือกได้ไว้ขึ้น ข้อเสียคือ หนักกำลังเครื่องยนต์ และถ้ารถไถไม่แข็งแรงพอหรือดินเป็นหล่มจะหนักแรงเครื่องยนต์มาก รถไถอาจโซ่ขาดหรือเฟืองแตกได้ ควรลดขนาดวินเครื่องยนต์ลดอย่างน้อยครึ่งนิ้ว

ปล.นายแบบโดย @ท — กับ ทรงวุฒิ ยิ้มไทร

บทที่ 3 ย่ำเทือก
หลักการง่าย ๆ คือ ทำให้ดินที่ไถไว้และควักซื่งยังเป็นก้อน กลายเป็นน้ำเลน อุปกรณ์ที่ใช้มีทั้งลูกจิ้ม ลูกควัก คราด ย่ำไปเรื่อย ๆกระทั่งดินแตกตัว ฟู เทือกยิ่งหล่ม ข้าวยิ่งงาม ในภาพใช้คราดสองคัน และลูกควักหนึ่งคัน เพื่อเก็นงานตรงที่ดินแข็ง ๆ หรือเป็นที่ดอน

บทที่ 4 ลูบเทือก
อุปกรณ์ที่ใช้คือกระดานลูบเทือก หลังจากที่ควักดินจนฟูแล้ว ดินจะยังไม่เรียบ ต้องปรับหน้าดินโดยอุปกรณ์นี้ ให้พื้นเลนเรียบ ยามหว่าน เมล็ดข้าวจะได้ไม่จมน้ำ เพราะพื้นสม่ำเสมอ อุปกรณ์นี้ยังใช้ปรับระดับของดิน โดยดันเอาเลนจากที่ดอนลงไปที่ลุ่ม(เหยียบห้ากระดาน)

บทที่ 5 แช่ข้าว
นำกระสอบข้าวปลูกลงแช่ในน้ำ 24 ชั่วโมง ก่อนจะนำขึ้นมาไว้บนแห้งอีก 24 ชั่วโมง เพื่อให้ข้าวแตกตา และพร้อมสำหรับการนำไปหว่าน โดยปรกติผมจะแช่ข้าวในอ่าง แต่ที่นาไม่มีอ่างเลยใช้ไม้ไผ่สองอันพาดร่องน้ำ และใช้พลาสติกกันน้ำทำเป็นเปลอุ่มข้าวไว้อีกที ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะต้องใส่เชื้อราไตรโครเดอร์ม่าลงไปตอนแช่ข้าวด้วย ในกระป๋องคือไตรโครเดอร์มาร์ที่เพาะเชื้อกับข้าวสุกและน้ำมาใส่น้ำขยำ ๆ ให้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าละลายออกมา(สปอร์) ประโยชน์คือ ราไตรโคเดอร์ม่าจะไปกินราชนิดอื่น ๆที่ทำให้ข้าวอ่อนแอ และช่วยสงเสริมการเจริญของตุ่มตาข้าว

อัตราการหว่านของผม ไร่ละยี่สิบกิโลครับ ต้นข้าวจะไม่หนาแน่นเกินไปแล้วข้าวจะแตกกอดี ไม่แย่งกันสูง ทำให้ไม่ล้มง่าย ช่วยให้แสงแดดส่องถึง โรคแมลงจะไม่รบกวน โดยเฉพาะฤดูกาลนี่เพลี้ยมักระบาด และผมใช้ข้าว กข 31 ซึ่งทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้้ำตาล กันไว้ดีกว่าแก้ครับ เริ่มให้ถูก วางแผนให้ดี แล้วการทำนาจะไม่ใช่เรื่องยากครับ ฝากไว้สักนิดครับ

หลังเสร็จงานในแต่ละวัน ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง เพื่อป้องกันสนิมในถังน้ำมัน ตรวจระดับน้ำมันเครื่อง เพิ่มน้ำมันในกรองอากาศ(แบบเปียก )ล้างรถไถและอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เพื่อง่ายในการตรวจดูจุดหลวมคลอนต่าง ๆเช่นน็อต หรือรอยร้าวอันเกิดขึ้นได้ เช่นตามคอคราด หัวผาน ไม่ได้เก่งมาจากใหน แต่งานมันสอนผมครับ ^__^” ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความปลอดภัยนั่นเอง..

ครบ 100 ชั่วโมงทำงาน ทั้งเครื่องและคน ล้างกรองดีเซล กรองน้ำมันเครื่อง และกรองอาศและเติมน้ำมันในกรองอากาศ(แบบเปียก เท่านี้ เครื่องยนต์ก็จะไม่สึกหรอเร็วเกินไป

ตัวซ้ายเรียกตามประสาชาวบ้านว่าเครื่องพ่นลม(duster)ใช้งานได้สองอย่างทั้งพ่นละอองน้ำกับพ่นเมล็ดปุ๋ย,เมล็ดข้าวมันจะมีชุดดัดแปลงมาให้ราคา2500–3500บาทเป็นเครื่องจากจีนตัวขวาเรียกเครื่องปั้ม(sprayer)ใหม่ญี่ปุ่นราคา10,500 บาท ใช้มาสองปียังไม่เคยรวนครับ

อันนี้เรียก”เลื่อนนั่ง”ทำให้ไม่ต้องเดินตามรถไถ เหนื่อยน้องลง ใช้เหล็กแบนด้านล่างช่วยให้เบาแรงเครื่องขึ้นครับ เรื่องสัดส่วนเดี๋ยวจะวัดให้ครับ ที่นาไม่มีตลับเมตร เดี๋ยววัดให้ครับ

ผานหัวหมูมีสองแบบครับ แบบ ไถพุ่งกับไถแซะ อันนี้ของผมเป็นแบบไถแซะ หน้า 16 นิ้ว เบาแรงเครื่อง กลบฟางได้มิดและฟางไม่ค่อยติดคอผานเพราะขี้ไถจะถูกยกตัวในช่วงท้านของใบผาน(เรียกว่าใบเพล่) ข้อดีอีกอย่างคือขี้ไถจะหักเป็นข้อ ๆ ทำให้ย่ำเทือกง่านกว่าแบบไถพุ่ง

ลูกควัก อันนี้ของอาชัยพรครับ

ผาล สำหรับไถกลบฟางโดยเฉพาะ

คราดจัมโบ้ กว้าง 2.5 เมตร คอคราดยาว ช่วยให้ฟางติดน้อยลง ตาคราดยาว ช่วยกดฟางได้ลึกและเบาแรงเครื่องยนต์(ประหยัดน้ำมัน)

แนะนำหรับหรับคนที่ทำนาเยอะสักหน่อย ถ้ามีท่าสูบน้ำถาวร นี่เลยครับ เครื่อง daihatsu สามสูบ ดัดแปลงติดหม้อต้ม ใช้แก้ส ประหยัดค่าสูบน้ำไปกว่า 40 เปอร์เซน ข้อเสียคือต้องงรู้เรื่องระบบไฟพอควรและใช้ขอดน้ำออกจากนาไม่ได้เพราะรอบมันจัดครับ

ราคาเครื่องยนต์9000-12000แล้วแต่สภาพครับ ค่าหม้อต้ม 2000 แบ็ตอีกสองพันกว่าบาท อัตราสินเปลืองก็แล้วแต่เรื่องเครื่องครับ ยกตัวอย่างให้เห็นนะครับ ฤดูกาลที่แล้ว 143ไร่ค่าสูบน้ำของผม เป็นค้าน้ำมันหกหมื่นกว่าบาท ฤดูนี้หมดค่าแก้สไป สองหมื่นกว่าบาท+ค่าน้ำมันอีกหมื่นกว่าบาทครับ

ก็ได้เครื่องแก๊สนี่แหละ เชื้อเพลิงราคาถูกฤดูกาลนึงหมดไป45ถัง 14000 กว่าบาท น้ำมันใช้หมดไป 90000 กว่าบาท (เก้าหมื่นกว่าบาท) แล้วคุณๆจะเลือกอะไร ฮ่า ฮ่า

“เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (2): “ทำนาผิดวิธี” อนาคต “สิ้นนา สิ้นชาติ”

27 พฤษภาคม 2012

ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th

ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th

แม้ว่า “มูลนิธิข้าวขวัญ” จะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในปี 2541 แต่ อาจารย์ “เดชา ศิริภัทร” เริ่มต้นการทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาชาวนาตั้งแต่จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมในปี 2532

อาจารย์เดชาเล่าว่า การทำงานพัฒนาหรืองานช่วยท้องถิ่นจะเริ่มต้นที่ “ปัญหา” เป็นตัวตั้ง ซึ่งเมื่อกลับมาก็เห็นปัญหาของสุพรรณคือ “ชาวนา” ที่มีจำนวนมาก และปัญหาของชาวนาคือทำงานไม่ถูกวิธี ซึ่งเมื่อนำเทคนิคที่เราถนัดมาจับ พบว่าเทคนิคของชาวนาผิดหมดเลย

การทำนาในปัจจุบันกับทำนาในสมัยโบราณต่างกันมาก อาจารย์เดชาเล่าว่า ก่อนจะไปเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 2508 ตอนนั้นการทำนายังเป็นสมัยโบราณ ใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน คือ ปลูกปีละหน ใช้ควายไถนา วิธีการก็หว่านให้มันขึ้นเอง พอน้ำท่วมก็ปล่อยให้จมไป พอน้ำลดก็เกี่ยว วิธีการแบบนี้ทำมาเป็นพันปีไม่เป็นไร เพราะไม่ใช้ปัจจัยอะไรเลย เกี่ยวข้าวได้เท่าไรก็เท่านั้น แม้จะได้กำไรน้อยมาก แต่ได้เท่าไรก็เป็นกำไรหมด

แต่พอเรียนจบมหาวิทยาลัยปี 2512 อาจารย์เดชาเล่าว่า มีข้าวพันธุ์ใหม่มา คือ ข้าว กข.1 เป็นข้าวนาปรัง ปลูกได้ทั้งปี แต่ถ้าน้ำท่วมจะปลูกไม่ได้เพราะมันไม่จมน้ำ ก็กลายเป็นว่า แทนที่จะปลูกหน้าฝนถึงหน้าน้ำ ก็เปลี่ยนมาปลูกหน้าแล้งตลอด พอหน้าน้ำจะมาก็เลิกปลูก ดังนั้น แทนที่จะปลูกข้าวปีละครั้ง ก็ปลูกปีละ 2 ครั้ง โดยปลูกในช่วงหน้าแล้ง 8 เดือน ได้ 2 ครั้ง ยิ่งพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมและมีชลประทานมาถึงจะปลูกได้ทั้งปีหรือปีละ 3-4 ครั้ง แต่พันธ์ข้าวพื้นบ้านปลูก 4 เดือนได้ครั้งเดียว

“พันธุ์ข้าวใหม่พวกนี้นำการเปลี่ยนแปลงมาเนื่องจากปลูกได้ปีละหลายๆ หนและผลผลิตสูง แต่ผลผลิตสูงก็ต้องการปัจจัยเยอะ ปุ๋ยเคมีก็เข้ามา ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนต่างๆ ก็มา และ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก็เข้ามา”

ช่วงจังหวะเวลาดังกล่าว สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ปี 2504 – 2509 กับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 ตั้งแต่ปี 2510-2514

อาจารย์เดชาสรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับแรก เป็นการวางแผนเตรียมคน เตรียมเขื่อน เตรียมพันธุ์ข้าว พอมาถึงแผนฯ ฉบับที่ 2 ก็เริ่มส่งเสริม ตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้ง ธ.ก.ส. มีพันธุ์ข้าวใหม่มาส่งเสริมให้ชาวนาทำ มีการตั้งเกษตรตำบล และเขตไหนมีชลประทานไปถึง ทางการก็เอาพันธุ์ข้าวใหม่มาแลกเอาพันธุ์ข้าวเก่าไปเก็บเพื่อให้ชาวนาปลูกพันธุ์ข้าวใหม่แทน ทำให้ชาวนาทิ้งพันธุ์ข้าวเก่า ตอนนี้ชาวนาไม่ปลูกพันธุ์พื้นบ้านกันแล้ว แต่การทำนาสมัยใหม่ทำให้เกิดปัญหาคือ

1. ชาวนามีปัญหาหนี้สินเยอะ

2. ทำนาแล้วมีแต่ขายนา

3. ทำนาแล้วลูกหลานหนีหมด

“ปัญหาดังกล่าวทำให้แทนที่ชาวนาจะเป็นกระดูกสันหลังก็กลับกลายเป็นรากหญ้า แบบนี้เขาเรียกว่า ‘ดูถูก’ และชาวนาก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปขอให้คนอื่นเขาช่วย เข้าโครงการจำนำข้าวทีก็เอาเงินมาปลดหนี้ที แบบนี้ทั้งตัวเองไม่รอดและเดือดร้อนคนอื่นด้วย”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างเดือนร้อนคนอื่น รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีจากคนอื่นมาซื้อข้าวในโครงการรับจำนำมาเก็บไว้ แต่ละปีต้องใช้เงิน 300,000 ล้านบาทขึ้นไป นั่นคือเงินภาษีต้องไปกองไว้ปีละ 300,000 ล้านบาทขึ้นไปเพื่อช่วยชาวนา พอรับจำนำเสร็จแล้วก็ต้องนำไปขาย ซึ่งแต่ละปีรัฐบาลต้องขาดทุนอีกปีละ 100,000 กว่าล้านบาทเป็นอย่างน้อย

แสดงว่าแต่ละปีต้องเสียเงินฟรีๆ ให้ชาวนาเป็น 100,000 ล้านบาท แล้วชาวนาทำอะไรให้บ้าง ชาวนากลายเป็นภาระของสังคมและเบียดเบียนคนอื่น

เพราะฉะนั้น ชาวนาต้องทำนาให้ถูกวิธี คือ ต้องมีต้นทุนต่ำ ไม่ใช่ต้นทุนสูงแบบนี้ และทำงานเสร็จแล้วต้องมีเงินเหลือโดยไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น แต่ปัจจุบันชาวนาทำนาได้กำไรนิดเดียว ถ้าขาดทุนจะขาดทุนเยอะ ทำให้มีหนี้สินเป็นล้านบาท

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญระบุว่า ชาวนาแถวสุพรรณบุรี ถ้าทำนาปรัง 3 ครั้ง มีหนี้เป็นล้าน แต่ทำนา 2 ครั้ง มีหนี้เป็นแสน ถ้าทำครั้งเดียวมีหนี้เป็นหมื่น เรียกว่า “ยิ่งทำหนี้ยิ่งเยอะ” เพราะยิ่งทำก็ได้เครดิตหรือสินเชื่อเพิ่มขึ้น ยิ่งกู้ก็ยิ่งมีหนี้มาก แต่มีรายได้ไม่เพียงพอ เพราะตัวเองขาดทุนอยู่แล้วจากการทำนาแบบต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงเกิดโรคแมลงสูง เนื่องจากใช้วิธีเคมี ไม่ใช้ธรรมชาติ ทำให้โรคแมลงดื้อง่าย

ดังนั้น ปัญหาของชาวนาคือ มีต้นทุนสูง มีความเสี่ยงสูง และข้าวคุณภาพไม่ดี ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ขณะเดียวกันชาวนาไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก เพราะอันตราย ไม่อร่อย ต้องซื้อข้าวกิน ต้องพึ่งตลาด และตัวเองยังได้รับสารเคมีจากการทำนา มีโอกาสเป็นมะเร็ง เป็นเบาหวาน และเป็นโรคสารพัดเต็มไปหมดยิ่งกว่าคนเมืองเสียอีก

“ชาวนามีแต่ของเสียเต็มไปหมด และกระจายไปทั่วประเทศด้วย เพราะเวลาทำนาของเสียต่างๆ ไปกับน้ำ กับลม กับอากาศ คนซื้อข้าวกินก็กินข้าวที่ชาวนาไม่กิน จะเห็นว่าเป็นผลเสียทั้งประเทศ และไปเบียดบังภาษีที่คนอื่นต้องจ่าย แบบนี้ไม่มีอะไร ดีอย่างเดียวคือพวกนี้ประชานิยมง่าย รัฐบาลไหนสัญญาว่าจะให้ ชาวนาก็ไปลงคะแนนเลือกเขาหมด เพราะอ่อนแอ ต้องพึ่งรัฐบาล”

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

อาจารย์เดชาแสดงความเป็นห่วงว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานๆ ชาวนาจะไม่รอด ชาวนาจะสูญพันธุ์ เดี๋ยวเขาก็ยึดนาไปหมด ลูกหลานก็หนีหมด ถ้ารัฐบาลทิ้ง ชาวนาก็สูญพันธุ์หมด ถ้าชาวนาสูญพันธุ์ หรือหายไป ความมั่นคงทางอาหารก็จะไม่มี นอกจากนี้ ข้าวเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรม วัฒนธรรมบ่งบอกถึงความเป็นชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีข้าววัฒนธรรมก็สูญ และจะสูญชาติไปด้วย

“ที่เขาเรียกว่า ‘สิ้นนา สิ้นชาติ’ ก็แบบนี้แหละ” อาจารย์เดชากล่าวและบอกว่า ถ้าจะช่วยชาวนาต้องช่วยที่ต้นตอ คือการปลูกข้าวที่ถูกวิธี และต้องถูกทั้งทางโลกทางธรรม

ทางโลก คือ ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เสี่ยงต่อการเสียหาย คุณภาพดี ไม่ทำลายธรรมชาติ และชาวนาสามารถมีรายได้พอกับการครองชีพ ไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น ส่วนทางธรรม คือ ทำนาแบบไม่โลภ ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ ไม่ต้องไปทำร้ายผู้บริโภค ไม่ไปเอาของมีพิษให้คนอื่นกิน และตัวเองก็ไม่ทำบาป

“เราคิดแบบพุทธ คือ กำไรหรือขาดทุนอยู่ที่ปัจจัย ถ้าเราขายได้ถูกกว่าต้นทุนก็ขาดทุน ทั้งนี้ราคาข้าวเรากำหนดไม่ได้ เป็นปัจจัยภายนอกที่ขึ้นอยู่กับตลาด แต่ต้นทุนเรากำหนดได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเน้นที่ต้นทุนหรือสิ่งที่เรากำหนดได้ ถ้าปัจจัยข้างนอกดีเราก็ดีมากขึ้น ถ้าปัจจัยข้างนอกไม่ดีเราก็อยู่ได้เพราะต้นทุนต่ำ แต่ถ้าไม่ลดต้นทุนเลย รอให้ราคาข้าวแพงอย่างเดียวเมื่อไรจะได้ และถึงราคาข้าวจะแพง ถ้าเกิดโรคระบาดก็ไม่มีผลผลิตไปขาย แล้วจะมีรายได้อย่างไร เสียสองต่อเลย”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ทำนาวิธีใหม่ไม่มีการสอน ทุกอย่างเราต้องพัฒนาขึ้นมา แล้วเอาไปสอนชาวบ้าน ก่อนจะสอนต้องทำให้ได้ก่อน มีแปลงทดลอง ต้องทดลองจนรู้ได้ผลจริง เมื่อทดลองได้ผลจริงแล้วก็ไปหาชาวนาที่เขาต้องการลองจริงๆ ไปหาสัก 1-2 คน แล้วรับประกันให้เลยว่าถ้าไม่ได้ผลจะจ่ายชดเชยให้ ถ้าชาวนาคนนั้นผ่านได้ผลจริง ก็เอาไปสอนชาวบ้าน เพราะได้ผ่านการพิสูจน์จากชาวนาจริง ไม่ใช่เรา เพราะชาวนาเขามีปัจจัยบางอย่างควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมได้ ถ้าผ่านชาวนาไปแล้วปรับให้เข้ากับชาวนาส่วนใหญ่ก็ทำได้เลย

ชาวนาที่ทำนาตามวิธีใหม่แล้วประสบความสำเร็จคือ “คุณชัยพร พรหมพันธุ์” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เป็นเกษตรดีเด่นสาขาทำนา เมื่อปี 2538

“เราทำงานปี ’32 ลูกศิษย์เราได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นดีเด่นระดับชาติ ในวันพืชมงคลเมื่อปี 38 เมื่อคุณชัยพรทำได้แล้วเราก็สังเกตดูว่าเป็นแกอย่างไร ตอนนั้นแกเริ่มจากมีที่นา 25 ไร่ ตอนนี้มี 108 ไร่ เขาซื้อเพิ่มเพราะว่ารวยขึ้น ได้กำไรปีละเป็นล้านบาท”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ตอนแรกคุณชัยพรมีที่นา 25 ไร่ แต่ถ้ามีที่น้อยกำไรก็น้อย จึงเช่าเขาเพิ่มเป็น 90 ไร่ เมื่อได้ที่ทำนา 90 ไร่ มีกำไรปีละเป็นล้าน ก็ไปซื้อนาเพิ่มขึ้นๆ จนมีนาเป็นของตัวเอง 108 ไร่ แบบนี้แสดงว่าได้ผลแน่ เราก็เอาตัวอย่างนี้ไปสอนต่อ ปรากฏว่าไม่มีใครทำเลย

“อยู่นี่มาตั้งแต่ปี ’32 เพื่อนบ้านเราเป็นสิบรายไม่มีสักคนทำตามเลย เขาใช้เคมีหมดเลย มีคนหนึ่งอยู่แถวนี้ มีหนี้อยู่ล้านสาม (1,300,000 บาท) ต้องเอานามาขายเรา เราก็ต้องซื้อไว้ ไม่นั้นจะโดนยึดนา แต่เหลือนาเท่าไรเขาก็ทำนาใช้เคมีเหมือนเดิม นี่ขนาดจะโดนยึดนายังไม่เข็ด”

ทั้งนี้ วิธีทำนาของมูลนิธิข้าวขวัญไม่ใช้เคมี ผลผลิตจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ และแมลง แต่อาจารย์เดชายืนยันว่า ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยมากกว่าใช้วิธีเคมีแน่นอน เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าเขา 2-3 เท่า คือต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อตัน คือ ทำนาได้ข้าว 1 ตันข้าวเปลือกมีต้นทุน 2,000 บาท ขณะที่ชาวนาทั่วไปต้นทุนอย่างน้อย 6,000 บาทขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณชัยพรขายข้าวได้ 2,000 บาทต่อตัน ก็เสมอตัว ถ้าขายได้ 4,000 บาทต่อตัน จะกำไร 100% และถ้าขายได้ 6,000 บาท ก็กำไร 200% ดังนั้นที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ก็กำไรเกิน 10,000 บาท หรือขายได้ 13,000 บาท แต่ต้นทุน 2,000 บาท ก็กำไรตันละ 11,000 บาท

เหมือนเมื่อปี 2551 ตอนนั้นข้าวขึ้นไปราคา 13,000 บาท คุณชัยพรได้กำไรทั้งหมด 2 ล้านบาท ปีนั้นไม่มีโครงการจำนำข้าวแต่ข้าวแพงขึ้นเอง และเมื่อปี 2554 น้ำท่วม นาที่สุพรรณ ส่วนใหญ่ปรกติจะท่วมปลายเดือนกันยายน แต่ปีก่อนแค่วันที่ 10 กันยายน น้ำก็มาแล้ว คุณชัยพรต้องเกี่ยวข้าววันที่ 10 กันยายน เกี่ยวหลังจากนี้ไม่ได้ ทำให้ได้ข้าวเขียวมาก ขายได้ราคาไม่ดีเพียง 4,000 บาท จากราคาข้าวในตอนนั้น 8,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้คุณชัยพรจะขายได้ 4,000 บาท แต่ก็ได้กำไร 2,000 บาท เนื่องจากมีต้นทุนเพียง 2,000 บาท แต่คนอื่นขาดทุนเพราะต้นทุนสูงกว่า

ที่มา: http://t0.gstatic.com

จากความสำเร็จของคุณชัยพร ซึ่งทำนาตามวิธีของมูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้อาจารย์เดชามั่นใจว่า โมเดลการทำนาแบบคุณชัยพรจะทำให้ชาวนาไทยอยู่รอด และสามารถแข่งขันสู้ต่างประเทศได้หากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (เออีซี) เนื่องจากต้นทุนต่ำ แต่ปัญหาคือ ชาวนาคนอื่นๆ ไม่ทำตามโมเดลคุณชัยพร แม้แต่ชาวนารอบบ้านคุณชัยพรก็ไม่ทำตาม ทั้งที่เห็นชัดเจนว่าทำแบบคุณชัยพรแล้วกำไรดี ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เป็นโรคแมลง

“ทุกอย่างดีหมด แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ทำหรอก เพราะทำแบบนี้ต้องเลิกใช้ปุ๋ยใช้ยา เขาเลิกไม่ได้ เขาบอกทำใจไม่ได้ นอนไม่หลับ ที่ทำใจไม่ได้ เพราะมีโฆษณาทุกวัน คนเมื่อถูกใส่โปรแกรมที่เขาเรียกว่า ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ คุณต้องทำแบบนี้ดี ก็ลังเลว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ดีสิ โฆษณาแบบนี้ชาวนาไม่รอดหรอก เพราะคนเราไม่ได้อยู่ที่เหตุผล แต่อยู่ที่การให้ข้อมูล ผมพยายามส่งเสริมมาหลายปีแล้ว จะได้ผลก็เฉพาะกับคนที่ฉลาดจริงๆ เห็นโฆษณาแล้วไม่เชื่อ แต่คนส่วนใหญ่ 99.99% ไม่ฉลาดแบบนี้”

ทั้งนี้ อาจารย์เดชาบอกว่า ทำงานที่สุพรรณมากว่า 20 ปี แต่เครือข่ายลูกศิษย์ของมูลนิธิข้าวขวัญยังมีน้อยมาก หรือมีจำนวนเป็นเพียงหลักพันคนเท่านั้น แต่ชาวนามีตั้ง 18 ล้านคน

มีลูกศิษย์ที่มารับแนวคิดของมูลนิธิข้าวขวัญจากทั่วสารทิศ มีทั้งชาวนาแท้และไม่แท้ ชาวนาแท้ก็คือคนที่ทำนาเป็นอาชีพ ส่วนชาวนาไม่แท้คือคนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกรุงเทพฯ ดูรายการ “ฉันอยากเป็นชาวนา” ของอุ้ม (สิริยากร พุกกะเวส) ก็อยากมาเรียนที่นี่ ซึ่งโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เปิดหลักสูตรสำหรับคนกลุ่มนี้ 2 วัน 2 คืน เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

“มาตั้งแต่เย็นวันศุกร์ สอนแค่ 2 วันก็ทำนาได้แล้ว และพาไปเยี่ยมชมนาคุณชัยพรครึ่งวันด้วยซ้ำ กลับเย็นวันอาทิตย์ไปทำนาเป็นแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่มีที่นาก็ให้เราหาซื้อที่นาให้ เราก็ไปหาซื้อที่นาชาวบ้านให้ กลุ่มนี้จะเยอะขึ้น เพราะเขาอยากอิสระจากงานประจำ”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกล่าวว่า เรามีทางเลือกที่ถูกต้องให้แล้ว แต่ชาวนาไม่เลือกเพราะถูกล้างสมอง เชื่อว่าถ้าไม่ถูกล้างสมองและโฆษณาได้เช่นกันในเวลาที่เท่าๆ กันชาวนาก็คงเลือก ถ้าไม่ให้โฆษณาก็ไม่เหมือนกัน แต่เราไม่มีเงินเหมือนบริษัทขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลง แบบนี้จึงเหมือนถูกมัดมือชก เขามีเงินทุนโฆษณาได้ทั้งวันทั้งคืน

“จริงๆ โครงการจำนำข้าวไม่ควรจะมีอยู่ เพราะทำให้ชาวนาไปหวังผิดๆ รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ห้ามไม่ให้โฆษณาก็ช่วยได้มากแล้ว จากนั้นชาวนาจะไปดูกันเองว่าทำนาแบบไหนที่ไหนดีก็ทำตามเขา ง่ายนิดเดียว ไม่เช่นนั้นจะแข่งกับเวียดนามกับพม่าได้อย่างไร ถ้าจะแข่งขันได้รัฐบาลต้องปล่อยให้คนของเราสู้กับเขาได้จริง ไม่ใช่อุ้ม ถ้าอุ้มจะเอาเงินที่ไหนมามากมาย เพราะไม่ได้ช่วยแต่ชาวนาอย่างเดียว”

ปัญหาของชาวนานั้น นอกจากเรื่องต้นทุนสูง มีความเสี่ยงโรคแมลง และคุณภาพข้าวแย่ จนทำให้ชาวนาเป็นหนี้สินล้นพ้น ต้องขายที่นาและลูกหลานทิ้งแล้ว ปัญหาเรื่องการที่ชาวนาไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่เขาทำนา ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข เพราะทำให้ชาวนามีต้นทุนเพิ่มขึ้น และไม่มีความมั่นคงในอาชีพ แต่อาจารย์เดชามองว่า ปัญหาเช่าที่นาเป็นเรื่องหลัง เพราะดูอย่างคุณชัยพรก็เช่าที่นา แล้วทำไมสามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้ตั้ง 108 ไร่ เพราะเขามีกำไร

ดังนั้น ถ้าชาวนามีกำไรก็สามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้เช่นกัน แต่ตอนนี้ยิ่งเช่ายิ่งขาดทุนก็ยิ่งไปใหญ่ เรื่องปัญหาเช่าที่นาก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแบบที่ว่า ทำนาแบบผิดๆ เรื่องนี้ต้องเร่งแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก

“การทำนาแบบผิดๆ เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่รัฐบาลกลับไม่ช่วยอะไรเลย มัวแต่จะไปช่วยที่ไม่ได้ผล คือไปช่วยอะไรที่ถ้าบริษัทปุ๋ยและบริษัทยาฆ่าแมลงไม่ว่าก็ช่วย อย่างโครงการจำนำข้าว บริษัทไม่ว่าและยิ่งชอบ แต่ถ้าห้ามโฆษณา บริษัทไม่ชอบ เพราะขายของไม่ได้ กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับบริษัท ถ้ารัฐบาลจะช่วยชาวนา ก็ควรห้ามโฆษณา ไม่ต้องสนใจบริษัทว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน”

เพราะฉะนั้น หากยังปล่อยให้ชาวนาถูกล้างสมองแบบนี้ไปเรื่อยๆ และรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาเช่นนี้ อาจารย์เดชาฟังธงว่าคงต้องให้ชาวนา “ล่มสลาย” ไปก่อน เพราะสุดท้ายคือตัวชาวนาเองต้องช่วยตัวเอง ถ้าชาวนาไม่ช่วยตัวเองก็ไม่มีใครช่วยได้ จะรอให้รัฐบาลหรือใครมาช่วยคงไม่มีทาง

ดังนั้นชาวนาต้องช่วยตัวเองถึงจะรอด แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะรอด และจะเป็นคนนอกวงการที่ต้องการอิสระที่จะมาแทนชาวนาแท้ ซึ่งปริมาณอาจจะน้อยลง แต่คุณภาพจะเพิ่มขึ้น

มิฉะนั้นอาจ “สิ้นนา สิ้นชาติ” ก็คราวนี้

วิธีการและเทคนิคการทำนาของคุณชัยพร

1. การทำเทือก ลูบเพื่อกดให้ระดับเรียบ นามีน้ำ ให้ไล่ดินก่อนแล้วลาก ตั้งระดับได้ มีกระดานลูบหลังเสมอเลย หากท้องนาเสมอเรียบ จะใช้น้ำเข้านาน้อย ไม่เปลืองน้ำค่าสูบน้ำ คุมน้ำคุมหญ้าได้ง่าย และป้องกันน้ำแห้งเป็นจุดๆ ในที่ดอนน้ำเข้านาวันที่ 7-25 ของวันปลูกข้าว หลังจากวันที่25 แล้ว ปล่อยให้น้ำในนาแห้ง

2. การหว่านข้าวเอาข้าวเปลือกแช่ลงไปในน้ำในปลอกบ่อที่เตรียมไว้ใส่น้ำ 70%ที่ใส่เชื้อไตรโคเดอร์ม่าไว้แล้ว เอาข้าวเปลือกลอยๆ ออกทันที เพราะเป็นข้าวเบาข้าวล้ม ไม่มีน้ำหนัก แช่ไว้ 1 คืน แล้วตักใส่กระสอบปุ๋ย เอาไปวางที่นาได้เลย วางกระสอบไว้เป็นจุดๆ ทั่วแปลงการหว่านใช้เครื่องพ่นหว่านโดยให้เครื่องพ่นอยู่ห่างจากตัวผู้พ่นประมาณ 7 เมตร อัตราการใช้ข้าวเปลือก 2.5 ถัง/ไร่ หว่านไม่หมดก็ไม่เป็นไร หากไม่แช่เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ข้าวเปลือกจะขึ้นรา ข้าวที่แช่แล้ว 1 คืน วางทิ้งไว้ในกระสอบชื้น จะเกิดตุ่มตา หากความชื้นหมด ตาจะหด จะใช้อีกก็จะนำกระสอบข้าวเปลือกแช่น้ำอีก เรียกตุ่มตาใหม่ก่อนเอาไปใช้งาน

3. แก้ปัญหาเพลี้ยไฟในนาข้าว ใช้สมุนไพรไล่แมลง ก็จะเหลือตัวหำตัวเบียน คอยกินเพลี้ย อีกเทคนิคหนึ่งคือ อย่าหว่านข้าวหนาไป จากเดิม 4-5 ถัง/ไร่ หนาไป ลดเหลือ 2.5 ถัง/ไร่ หากต้นข้าวหนา แดดจะร่ม มีร่มเงามาก เพลี้ยชอบความชื้นและร่มเงา หากหว่านให้บาง เพลี้ยจะหมดไป

4. การรักษาดินนา ให้ตรวจดินดูโดยการเดินย่ำนา หากนุ่มเท้าดินจะดี เพราะประกอบด้วยฟางจุลินทรีย์มากมาย หากเป็นดินแย่ จะแข็งกระด้าง เดินไม่สบายเท้า มักเกิดจากการเผานาแบบรุนแรง คือ เผาขณะลมนิ่ง ยามจำเป็นต้องเผาฟาง จะใช้เทคนิคการเผาฟางแบบลอกผ่าน โดยเลือกช่วงลมแรงๆ ไฟจะเผาฟางแบบผ่านๆ เผาไม่หมด

5. การทำเทือกโดยวิธีควักดิน รถควัก ทำงาน 10ไร่/วัน ดินนิ่มและยกเท้าเปื้อน ข้าวอายุ 45 วัน เปิดน้ำทิ้งก่อนปลายข้าวเหลืองให้แห้งก่อน รถทำเทือกแบบที่ขายกัน จะตัดดินจนเละ ดินข้างใต้ถูกตัดเสมอกันหมด และพื้นแข็ง สู้ควักเป็นจุด จะดีกว่า

6. ใส่ปุ๋ยขี้หมูช่วงข้าวอายุ 45 วันช่วง 45 วัน หากข้าวออกรวงช้า ให้เอาขี้หมูแห้งใส่กระสอบวางขวางน้ำเข้านา ให้น้ำชะล้าง ละลายออกไป ใช้ประมาณขี้หมู 1 กระสอบ/ไร่ หนที่ 2 อายุข้าว 50-55 วัน ใส่ปุ๋ยอีกหากเมล็ดข้าวเล็กไป ให้บำรุงเมล็ดข้าวโดยฉีดฮอร์โมน พ่นฮอร์โมนก่อนข้าวออกรวง 1 ครั้ง หลังออกรวงแล้ว ฉีดพ่นฮอร์โมน 1ครั้ง(เกสรตัวเมียข้าวจะเปิดปากช่วง 9 โมงเช้าถึงบ่าย 2ช่วงนี้ ห้ามฉีดพ่นฮอร์โมนหรือปุ๋ยใดๆ เพราะเมล็ดข้าวจะอมสารเข้มข้นเข้าไป เมล็ดจะแตก)

7. ปราบหอยเชอรี่ด้วยนก หอยเชอรี่ไม่มี เพราะนกกินหมด หลังจากทำเทือกแล้ว ปล่อยน้ำแห้ง นกจะลงมากินหอยในนา นกกินหลังทำเทือกเลย กิน 1- 2 วัน หอยก็หมด แล้วนกจะไม่มาลงนาอีก เพราะอาหารหมด หากในนามีหอยอยู่ มีต้นกล้าอ้วน นกจะเดินย่ำกล้าอ่อน ทำให้ต้นกล้าตายได้ พอนกกินหอยหมด ก็จะไม่มาลงนาอีก เพราะรู้ว่าอาหารหมดแล้ว จากนั้นก็ค่อยหว่านข้าวลงนา

8. ดูแลแมลงศัตรูข้าว มีแมลงมีหนอน ช่วงแรก หนอนจะห่อใบข้าว และมีเพลี้ยกระโดด ในนาข้าวอินทรีย์มีแมลงบ้าง แต่ไม่เสียหายใบหักไปบ้างไม่เป็นไร อย่ามากินรวงข้าว ก็แล้วกัน เพราะเราทำนาเองรวงข้าวเมล็ดข้าว ไม่ใช่เอาใบข้าว หนอนกินใบลงนามากๆ นกจะรู้ แล้วลงมาหาหนอน กินแล้วนกจะเหยียบรวงข้าวหัก ต้องฉีดสมุนไพร ได้ผลแน่นอนอยู่ที่ใจว่ามั่นใจในสมุนไพรไล่แมลง สมุนไพรต้องเก็บสะสม ที่ใช้บ่อยๆ ก็มี บอระเพ็ด ผักคูณ สะเดา ยาสูบ (ยาฉุน) หางไหล (โลตั๋น)

9. การจัดการข้าวพันธ์การเก็บข้าวพันธุ์จากการทำนาของตัวเอง เป็นพันธุ์สุพรรณ 60ดูที่รวงแก่หน่อย เมล็ดสุกเหลืองทั้งรวง ไม่มีต้นหญ้าอยู่ใกล้ๆ เกรงว่าจะเอาเมล็ดหญ้าปนมาด้วย เกี่ยวเสร็จ ก็เอามาตากแดด 1-2วัน ขึ้นอยู่กับแสงแดดอ่อนแก่ จัดเก็บใส่ถุงปุ๋ยไว้ การใช้ข้าวพันธุ์ไปปลูก ต้องเก็บอย่างน้อย 3 สัปดาห์ (21)วัน จึงเอาไปใช้ได้เลยช่วง 30-45 วัน %การงอกของเมล็ดข้าวจะสูงสุด การเก็บข้าวพันธุ์เอง ช่วยทำให้ประหยัด ค่าเมล็ดพันธุ์ได้ และสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวเองได้ และอาจควบคุมความเก่าใหม่ของเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ หรือมีข้าวอื่นปลอมปน

10. จงทำใจเมื่อทำนาอินทรีย์ คนเริ่มทำนาอินทีรย์ใหม่ๆ จะมีปัญหามาก หากต้นข้าวไม่งามใบไม่เขียว ปุ๋ยเคมีพอช่วยได้บ้างในช่วงแรกๆ แต่อย่ามาก เพราะชาวนาจะชินต่อการทำให้ใบข้าวเขียว แต่สารเคมีฆ่าแมลงให้ห้ามเด็ดขาด ข้าวใบงามเกินไป เมล็ดลีบ ให้สังเกตดู เขาเรียกว่าบ้าใบ ข้าวใบรวงสั้น เมล็ดจะแกร่ง เมล็ดจะเต็มเปลือกใบข้าวนาอินทรีย์ใบจะคมบาดขาลายไปหมด

11. แนวคิดจูงใจตัวเองให้ทำเองดีกว่าจ้างทำนาทั้งปี 2 ครั้ง ช่วง 3 ว่าง3 เดือน รอน้ำท่วม นับวันแต่ละรอบทำนา วันทำงานจริง 30วัน นั้นคือ ทำงานทั้งปี แค่ 60 วัน/ปี วันว่างมีมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงแต่ขี้เกียจทำ ไปจ้างเขาหมด ลองทำเองบ้าง เราทำเองอาจเร็วกว่า เพราะเราทำไปคิดไปว่าจะลดขั้นตอนงานให้น้อยลงอย่างไร สำรวจแปลงนาไปด้วย ประสิทธิภาพมากกว่า ระมัดระวังมากกว่า เพราะเป็นเจ้าของเอง การเดินก็ไม่เหยียบต้นกล้าจนเสียหาย คนอื่นเขาระวังน้อยกว่า การบนไว้กับตัวเองและภรรยา ว่าหากเกิน 100 ถัง/ไร่ (1 เกวียน/ไร่)จะขอส่วนเกินไปซื้อเครื่องประดับทองคำมาแต่งตัวแล้ว หากทำไม่ถึงก็อด ท้าท้ายตัวเอง หากจ้างคนอื่น ไม่มีทางทำได้มาก ต้องทำเอง จึงเกิดพลังใจในการทำงาน มากกว่าจ้าง

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนาเกษตรอินทรีย์พอเพียง 105 ไร่

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนาเกษตรอินทรีย์พอเพียง 105 ไร่
Chaiyaporn Pormpun : Eco-Organic Farmer
‘ซูเปอร์ชาวนา’ เกษตรอินทรีย์พอเพียง
การที่โลกตระหนกกับราคาน้ำมันและผลความตระหนกนี้ ยังส่งผลกระทบลูกโซ่มาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ราคาข้าวของไทยและประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ทั่วโลก

มีราคาแพงขึ้นพรวดพราดเกือบหนึ่งเท่าตัวจากราคาที่เคยซื้อขายกันมา ชาวนาพากันขมีขมันปลูกข้าว เจ้าของที่ดินแย่งชิงพื้นที่ปลูกจากชาวนาที่เช่าที่ดิน หรือชาวนาที่มีที่ดินของตัวเองพร้อมจะลงมือปลูกข้าวในช่วงราคางาม แต่ก็มาประสบกับปัญหาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงราคาแพงขึ้นพรวดพราด ในอัตราการเร่งตัวสูงกว่าราคาข้าวเสียอีก

ช่วงจังหวะนี้มีข้อเสนอเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากเจ้าของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยรายหนึ่งที่หยิบยื่นแนวคิดบรรษัทอุตสาหกรรมการเกษตรและการทำนาแบบ Contract Farming โดยอ้างว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของราคาสินค้าเกษตรของไทย ที่ราคาตกต่ำมานานจะได้รับราคาและข้อเสนอที่ดียิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา

อีกฟากหนึ่ง กลุ่มเอ็นจีโอก็เสนอความคิดว่า ช่วงเวลานี้เป็น “โอกาส” ที่ชาวนาไทยจะ “ปลดแอก” ตนเองจากการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงได้สำเร็จเมื่อไหร่ เมื่อนั้นต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาไทยก็จะลดลงฮวบฮาบ เกิดผลกำไรงอกงาม และเป็นไทแก่ตัวไม่เป็นหนี้เป็นสินในที่สุด ซึ่งเท่ากับพลิกสถานการณ์เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างวิถีชีวิตชาวนาไทยโดยสิ้นเชิง พอๆ กับการก้าวสู่เป็นส่วนหนึ่งของบรรษัทอุตสาหกรรมตามข้อเสนอของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่เช่นกัน

เวลาเดียวกัน ก็มีข่าวการฆ่าตัวตายของลุงชาวนา ที่โดนเพลี้ยกระโดดถล่มนาข้าวเสียยับเยินในช่วงข้าวราคาแพงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นช่วงที่ข้าวออกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว เป็นกรณีตัวอย่างของชาวนาที่ชอกช้ำในชีวิต ที่ไม่สามารถปลดเปลื้องหรือสลัดตัวให้พ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ของชีวิตชาวนาส่วนใหญ่ได้

แล้วเป็นชาวนาแบบไหน อย่างไรล่ะ ถึงจะสามารถยืนหยัดไม่เป็นหนี้เป็นสิน ไม่ตกอยู่ใต้วงจรอุบาทว์ เป็นกระดูกสันหลังของชาติที่แข็งแรงแข็งแกร่ง ไม่ใช่กระดูกสันหลังผุๆ อย่างทุกวันนี้

วันนี้เรามีชาวนาตัวอย่างที่ไม่เป็นทาสปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง และเป็นชาวนาเงินล้านมาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนา ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

หนุ่มใหญ่วัย 47 เกษตรกร
ตัวอย่างที่เคยคว้ารางวัลชาวนาดีเด่นระดับชาติมาแล้วเมื่อปี 2538 ถึงแม้จะมีรางวัลระดับชาติการันตีสมัย 12 ปีก่อน แต่ทุกวันนี้ชัยพรก็ยังเป็น “ซูเปอร์ชาวนา” ถึงขนาดเคยออกรายการสารคดีมาแล้ว หรือออกทีวีรายการต่างๆ อีกมากมาย

โดยเฉพาะในช่วงข้าวแพง ชีวิตของชัยพรดูเหมือนจะได้รับสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นผู้ที่สามารถสร้างรายได้ปีละนับล้าน จากการปลูกข้าวทำนา 105 ไร่ โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์เป็นหลักใช้ปุ๋ยขี้หมูขี้วัว หันหลังให้ปุ๋ยเคมีที่วันนี้แพงกว่าราคาทองแทบจะสิ้นเชิง และไม่ใช้ยาฆ่าแมลงยกเว้นยาฆ่าหญ้าที่จะใช้ทำลาย “ข้าวดีด” ที่ถือว่าเป็นวัชพืชในนาเท่านั้น เนื่องจากยังคิดค้นหาสมุนไพรอื่นๆ มากำจัดวัชพืชชนิดนี้ไม่ได้

ที่น่าอัศจรรย์มากไปกว่านั้น ก็คือในผืนนาจำนวนประมาณ 105 ไร่นั้น ชัยพรได้ลงมือลงไม้ไถคราด เพาะหว่านปลูกข้าว เก็บเกี่ยวกับภรรยาเพียง 2 คนเท่านั้น แทบไม่มีการจ้างแรงงานหรือขอแรงชาวบ้านมาช่วยลงแขกแต่อย่างใด

นอกจากนั้น การลงนาซึ่งมีฤดูกาลเพาะปลูกปีละ 2 ครั้ง ยังใช้เวลาในการทำงานฤดูละแค่ 30 วัน หรือหนึ่งเดือนเท่านั้น ตกแล้วปีหนึ่งชัยพรและภรรยาจะใช้เวลาทำนาเพียงแค่ 2 เดือน ทำให้มีเวลาเหลือในการทำ “รถควัก” สิ่งประดิษฐ์ที่ชัยพรคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้งานในนาตนเอง และยังทำขายให้กับชาวนาอื่นๆ ที่สนใจไว้ใช้งานอีกด้วย

ผลผลิตข้าวที่ชัยพรสามารถทำได้ต่อไร่ เฉลี่ยแล้วจะได้ข้าวประมาณกว่า 1 เกวียน ชัยพรยกตัวอย่างว่า ที่นาของเขาแปลงขนาด 22 ไร่ เพิ่งขายข้าวได้ 2.8 แสนบาท หรือได้ข้าวประมาณ 22 เกวียน ถือว่าเป็นผลผลิตที่ดีทีเดียว หักต้นทุนแล้วจะมีกำไรแสนกว่าบาท ขณะที่ต้นทุนถือว่าน้อยมาก อย่างอีกแปลงหนึ่งนา 5 ไร่ ลงทุนไปแค่ 7 พัน แต่ขายข้าวได้ถึง 6 หมื่นบาท

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ชัยพรเล่าว่า เขาทำนาตั้งแต่เด็ก ทำตามพ่อตามแม่ไม่มีที่นาของตัวเองและนาที่ทำก็ใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตไม่ได้ดีเท่าที่ควร รายได้ไม่พอกับค่าปุ๋ย ค่ายา จนต้องเลิกทำนาหันมาเป็นลูกจ้างตามอู่ซ่อมรถ เป็นลูกจ้างโรงสีข้าวได้ค่าแรงวันละ 35 บาท ต่อมาหันมาทำนาอีกครั้ง และหันมาใช้วิถีทางเกษตรอินทรีย์ใช้ขี้วัวขี้หมูเป็นหลัก แม้บางครั้งอาจจะมีการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 บ้าง ถ้าผืนนาตรงนั้นมีปัญหาให้ผลผลิตไม่ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งเขายอมรับว่านาของเขาไม่ใช่เกษตรอินทรีย์เต็ม 100%

หลังจากทำนาที่ยึดแนวเกษตรอินทรีย์มา 4-5 ปี ผลงานเข้าตาคนในหมู่บ้าน อบต.ในหมู่บ้านส่งชื่อเขาเข้าประกวดชาวนาดีเด่นระดับจังหวัด ระดับภาค ก็ชนะเลิศได้ที่หนึ่งเรื่อยมา จนกระทั่งส่งชื่อแข่งขันระดับชาติเมื่อปี 2538 เขาก็ได้รางวัลชนะเลิศอีก ได้รางวัลมาครองเป็นความภาคภูมิใจในครอบครัวและคนทั้งจังหวัดสุพรรณบุรี

“พอทำนาได้ข้าวดีก็มีเงินเหลือ ก็เลยขอซื้อที่นาที่เคยเช่าทำนาและซื้อไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีที่นาแปลงโน้นแปลงนี้ รวมแล้วประมาณ 104-105 ไร่”

ที่นาขนาด 100 ไร่ แต่ทำไมแค่สองคนผัวเมียก็ทำได้แล้ว ชัยพรเล่าว่า นาของเขาเป็นนาหว่าน ใช้ข้าวพันธุ์สุพรรณ 60 เกือบทั้งหมด การทำนาขนาดนี้ได้โดยไม่ต้องจ้างคนอื่น ต้องมีเครื่องมือดีมาเป็นตัวช่วย โดยเฉพาะ “รถฟัก” ซึ่งหมายถึงรถควักดินที่ชัยพรประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยดัดแปลงมาจากรถคูโบต้าเก่าๆ ซึ้อมาไม่กี่พันบาท ใช้วิ่งในนาเป็น “ควายเหล็ก” ที่แข็งแรงยิ่งกว่าควายสี่ขาจริงๆ รถควักนี้จะควักดินในนาที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วขึ้นมาใหม่ และทำให้ตอฟางข้าวที่หลงเหลือหลังเก็บเกี่ยวคลุกเคล้าจมลงไปในดิน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ฟางตอซังข้าวย่อยสลายเร็วกลายเป็นปุ๋ยในนาอีกที เท่ากับเป็นการลดใช้ปุ๋ยไปในตัว

“รถฟัก” จะวิ่งไปมา 3 เที่ยว ให้ดินซุยฟูขึ้นมา หลังจากนี้ก็จะต้อง “ลูบเทือก” อันหมายถึงการปรับพื้นที่ให้ราบเสมอกัน โดยใช้รถฟักตัวเดิมแต่เปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นเข้าไป เพราะถ้าหากพื้นนาไม่เสมอกันเป็นแอ่งบ้าง ดอนบ้าง ก็จะทำให้ต้นข้าวได้น้ำไม่เท่ากัน บางต้นได้น้ำมาก บางต้นได้น้ำน้อย เพราะอยู่บนดอนผลผลิตที่ออกมาก็จะไม่ดี หลังจากนั้นถึงจะหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงนา โดยช่วงระหว่างที่ต้นข้าวยังเป็นต้นอ่อน 10-20 วันแรกต้องทุ่มเทเวลาดูแลมากเป็นพิเศษ น้ำต้องมีให้เพียงพอ

“ถ้าเราทำเองใช้รถฟักวิ่งนี่แค่ครึ่งวันก็ได้แล้ว 10 ไร่ ใช้น้ำมันประมาณวันละ 10 ลิตร แต่ถ้าจ้างเขา เขาคิดไร่ละ 280 บาท 10 ไร่ ก็เท่ากับ 2,800 บาท ถ้าทำเองเสียค่าน้ำมันวันละ 300 บาท ประหยัดไปแล้ว 2,500 บาท”

นอกจากนี้ การกำจัด “ข้าวดีด” ที่ต้องใช้ไม้ยาวๆ มีเชือกร้อยเข้ากับลูกรอกปลายไม้ โดยเชือกนี้จะชุบน้ำยาฆ่าหญ้าไว้แล้ว เสร็จแล้วก็จะเดินไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เชือกที่ชุบน้ำยาลูบไปตามลำต้นข้าวดีด ซึ่งจะมีต้นยาวสูงกว่าข้าวปกติ ตรงจุดไหนโดนน้ำยาเพียงไม่กี่วันต้นข้าวดีดก็จะแห้งตาย ถ้าจ้างเขากำจัดข้าวดีดตกไร่ละ 50 บาท แต่ชัยพรลงมือเองโดยประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเอง ที่ช่วยผ่อนแรงในการรั้งไม้ที่ยาวกว่า 3 วา ประหยัดต้นทุนไปได้อีกเยอะ

ชัยพรบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่คิดเสียดายเงินค่าแรง แต่คนที่รับจ้าง “ลูบยา” ข้าวดีดมักจะทำไม่ถูกใจ พร้อมกับชี้ไปที่นาที่อยู่ติดๆ กัน ซึ่งต้นข้าวมีสีน้ำตาลเข้มตัดกับสีเขียวของที่นาของชัยพร โดยบอกว่านาโน้นจ้างคนมาลูบยากำจัดข้าวดีด แต่ลูบไม่ดีทำให้ไปโดนต้นข้าว ต้นข้าวก็เลยเสียหาย ข้าวแปลงที่เห็นนั้นเก็บเกี่ยวไม่ได้แล้ว แต่ถ้าหาก “ลูบยา” เอง ต้นข้าวก็จะไม่โดนยาไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนการใส่ปุ๋ยให้นา โดยใช้ปุ๋ยขี้หมูซื้อมาคันรถละ 800 บาท ใส่กระสอบแล้วเอาไปวางกักตรงจุดที่น้ำจะไหลเข้านา ปุ๋ยก็จะค่อยๆ ละลายไปกับน้ำล้วนได้ผลดี ต้นข้าวเจริญงอกงาม ที่สำคัญประหยัดกว่าใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยยูเรียสูตร 15-15-15 ที่นาอื่นๆ จะหว่านแบบแต่งหน้า ซึ่งกระสอบหนึ่งหว่านแป๊บเดียวก็หมด เปลืองกว่าใช้ปุ๋ยขี้หมูหลายเท่า และราคาก็แพงกว่าขี้หมูหลายเท่าตัวด้วย

การกำจัดศัตรูพืชทุกวันนี้ชัยพรไม่ได้ซื้อยาฆ่าแมลง อย่างเช่นพวกเพลี้ยกระโดดเหมือนนาอื่นๆ เพียงแต่ฉีดสมุนไพร ซึ่งได้จากสะเดา หางไพล ยาสูบ ขมิ้นชัน เม็ดมันแกว ไพล หัวกลอย หนอนตายหยาก หมักเพียงแค่ครั้งเดียว ปีหนึ่งใช้ได้ถึง 2 ครั้งของการทำนา สมุนไพรฆ่าแมลงนี้จะฉีดเพียงไม่กี่หน เพราะถ้าฉีดมากตัวห้ำตัวเบียน ซึ่งเป็นตัวกำจัดแมลงตามธรรมชาติก็จะพลอยตายไปด้วย

“ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีนี่ ถ้าไม่อัดยาเท่าไหร่ก็จะคุมไม่อยู่ สู้เพลี้ยไม่ได้ เพราะข้าวมันสูงถ้าเพลี้ยมันกระโดดลงเกาะโคนต้น ติดน้ำฉีดเท่าไหร่ก็ไปกับน้ำหมด และการฉีดยาเป็นสารเคมีนี่ ตัวห้ำตัวเบียนมันตายหมด ไอ้ตัวห้ำตัวเบียนมันก็เหมือนภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเรา ถ้าไปทำลายก็จะทำให้เราไม่มีภูมิคุ้มกันยังไงยังนั้น” ชัยพรเล่า

ทุกวันนี้มีคนจากทุกสารทิศ มาดูแบบอย่างการทำนาของชัยพรตลอดไม่ว่างเว้น ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แตกต่างจากชาวนาทั่วไปเกือบทั้งหมดของประเทศ ก็คือต้นทุนที่แตกต่าง ถ้าต้นทุนสูงชาวนาก็จะไม่เหลืออะไร

“ชาวนาส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ทำตัวเป็น “ผู้จัดการนา” อะไรก็จ้าง ไอ้โน่นก็จ้าง ไอ้นี่ก็จ้างเขาหมด ไม่ลงมือเอง ไม่ยอมเหนื่อย แล้วมันจะเหลืออะไร ขายข้าวไปก็ไปเป็นค่าจ้างค่าแรง ค่ายาค่าปุ๋ยหมด”

ชัยพรยังให้ข้อคิดอีกว่า “การเป็นชาวนานี่ ต้องอ่อนหมายถึงศึกษาธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติ ถ้าไม่เข้าถึงธรรมชาติทำยากเพราะการทำนาต้องอาศัยธรรมชาติ”

คำนวณคร่าวๆ ทุกวันนี้ชัยพรจะมีรายได้ตกเดือนละประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นจำนวนรายได้ที่คิดจากราคาข้าวราคาเดิม ไม่ใช่ราคาใหม่ที่ตกเกวียนหนึ่งเฉียด 3 หมื่นบาท

“ถ้าใครให้ไปทำงานเดือนละ 2-3 หมื่นไม่เอาหรอก เพราะต้องทำงานทุกวันสู้ทำอย่างนี้ไม่ได้ แค่ปีละ 2 เดือนก็พอแล้ว แต่ต้องทำจริงเหนื่อยจริงๆ เป็นชาวนาจริงๆ ไม่ใช่ผู้จัดการนา”

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

-ข้าวในนาของชัยพรออกรวงหนักอึ้ง

-ข้าวดีด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวป่าดั้งเดิม แต่เมล็ดจะลีบและร่วงก่อนเวลาอันควร เป็นวัชพืชต้องกำจัด

-ซูเปอร์ชาวนากำลังขับเคี่ยวกับ “รถฟัก” หรือรถควักดินที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง

-เครื่อง “ลูบยา” กำจัดข้าวดีดที่ชัยพรคิดทำขึ้นเองจากวัสดุเหลือใช้ เช่น รอกด้านปลายทำจากแกนม้วนวิดีโอ ใช้งานได้ดีจนมีชาวบ้านทำตาม

-น้ำฮอร์โมนไข่เอาไว้ฉีดตอนข้าวออกรวง

-เชื้อจุลินทรีย์ป่าที่เก็บมาจากป่าห้วยขาแข้ง เพาะเลี้ยงไว้ในถังซิเมนต์เอาหญ้าปกคลุมไว้เป็นเชื้อต้นแบบ ใช้ได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมดใครมาขอก็ให้ไป

คลังภาพ

การปลูกข้าว

This gallery contains 8 photos.

การปลูกข้าว พันธุ์และช่วงเวลาปลูกข้าว กา … อ่านเพิ่มเติม

การปลูกข้าว แบบวิชาการ

การทำนาข้าว หมายถึง การปลูกข้าว การปลูกข้าวในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น ๓ วิธีด้วยกัน ดังนี้
๑. การปลูกข้าวไร่
๒. การปลูกข้าวนาดำ
๓. การปลูกข้าวนาหว่าน
หลังจากทำการปลูกข้าวแล้ว ยังมีขั้นตอนอื่นๆที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึง ดังต่อไปนี้
๑. การดูแลรักษา
๒. การเก็บเกี่ยว
๓. การนวดข้าว
๔. การทำความสะอาดเมล็ดข้าว
๕. การตากข้าว
๖. การเก็บรักษาข้าว
การปลูกข้าวไร่
การปลูกข้าวไร่ หมายถึง การปลูกข้าวบนที่ดอนและไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ชนิดของข้าวที่ปลูกก็เรียกว่า ข้าวไร่ พื้นที่ดอนส่วนมาก เช่น เชิงภูเขามักจะไม่มีระดับ คือ สูง ๆ ต่ำ ๆ จึงไม่สามารถไถเตรียมดินและปรับระดับได้ง่าย ๆ เหมือนกับพื้นที่ราบ เพราะฉะนั้นชาวนามักจะปลูกแบบหยอด โดยขั้นแรกทำการตัดหญ้าและต้นไม้เล็กออก แล้วทำความสะอาดพื้นที่ที่จะปลูกแล้วใช้หลักไม้ปลายแหลมเจาะดินเป็นหลุมเล็ก ๆ ลึกประมาณ ๓ เซนติเมตร ปากหลุมมีขนาดกว้างประมาณ ๑ นิ้ว หลุมนี้มีระยะห่างกันประมาณ ๒๕ x ๒๕ เซนติเมตร ระหว่างแถวและระหว่างหลุมภายในแถว ปกติจะต้องหยอดเมล็ดพันธุ์ทันทีหลังจากที่ได้เจาะหลุม โดยหยอด ๕-๘ เมล็ดต่อหลุม หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วก็ใช้เท้ากลบดินปากหลุม เมื่อฝนตกลงมาหรือเมล็ดได้รับความชื้นจากดิน ก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นข้าว เนื่องจากที่ดอนไม่มีน้ำขังและไม่มีการชลประทาน การปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว พื้นดินที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันทีเมื่อสิ้นฤดูฝน ดังนั้นการปลูกข้าวไร่จะต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝน และแก่เก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน การปลูกข้าวไร่ ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม เนื้อที่ที่ใช้ปลูกข้าวไร่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อย และมีปลูกมากในภาคเหนือและภาคใต้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางปลูกข้าวไร่น้อยมาก
การปลูกข้าวในนาดำ

การปลูกข้าวในนาดำ เรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งออกได้เป็นสองตอน ตอนแรกได้แก่การตกกล้าในแปลงขนาดเล็ก และตอนที่สองได้แก่การถอนต้นกล้าเอาไปปักดำในนาผืนใหญ่ ดังนั้น การปลูกแบบปักดำอาจเรียกว่า indirect seeding ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
๑. การเตรียมดิน
๒. การตกกล้า
๓. การปักดำ

 

การเตรียมดิน
การเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวแบบปักดำ ต้องทำการเตรียมดินดีกว่าการปลูกข้าวไร่ ซึ่งมีการไถดะ การไถแปร และการคราด ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรงวัว ควาย หรือแทร็กเตอร์ขนาดเล็กที่เรียกว่าควายเหล็ก หรือไถยนต์เดินตาม ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่นาดำนั้นได้มีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็ก ๆ ขนาดแปลงละ ๑ ไร่หรือเล็กกว่านี้ คันนามีไว้สำหรับกักเก็บน้ำ หรือปล่อยน้ำทิ้งจากแปลงนา นาดำจึงมีการบังคับน้ำในนาได้บ้างพอสมควร ก่อนที่จะทำการไถจะต้องรอให้ดินมีความชื้นพอที่จะไถได้เสียก่อน ปกติจะต้องรอให้ฝนตกจนมีน้ำขังในผืนนา หรือไขน้ำเข้าไปในนาเพื่อทำให้ดินเปียก

 

 

การตกกล้า
การตกกล้า หมายถึง การเอาเมล็ดไปหว่านให้งอก และเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า เพื่อเอาไปปักดำ การตกกล้าสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกันคือ
การตกกล้าในดินเปียก
การตกกล้าในดินแห้ง
การตกกล้าแบบดาปก

การตกกล้าในดินเปียก
การตกกล้าในดินเปียก จะต้องเลือกหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินดีเป็นพิเศษ สามารถป้องกันนกและหนูที่จะเข้าทำลายต้นกล้าได้เป็นอย่างดี และมีน้ำพอเพียงกับความต้องการ การเตรียมดินก็มีการไถดะ ไถแปร และคราด ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ต้องยกเป็นแปลงสูงกว่าระดับน้ำในผืนนานั้นประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เมล็ดที่หว่านลงไปจมน้ำและดินนั้นเปียกชุ่มอยู่เสมอด้วย จะเป็นการดียิ่งขึ้นถ้าแปลงนี้ได้แบ่งออกเป็นแปลงย่อยขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร และมีความยาวขนานไปกับทิศทางลม ระหว่างแปลงเว้นช่องว่างไว้สำหรับเดินประมาณ ๓๐ เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้าถูกทำลายโดยโรคไหม้หรือแมลงบางชนิด เมล็ดพันธุ์ที่เอามาตากกล้าจะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ปราศจากเชื้อโรคต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จะต้องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์เสียก่อน โดยแยกเอามาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ และเอาเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าปกติทิ้งไป
เอาเมล็ดที่ต้องการตกกล้าใส่ถุงผ้าไปแช่ในน้ำนาน ๑๒-๒๔ ชั่วโมง แล้วเอาขึ้นมาวางไว้บนแผ่นกระดานในที่ที่มีลมถ่ายเทได้สะดวก และเอาผ้าหรือกระสอบเปียกน้ำคลุมไว้นาน ๓๖-๔๘ ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าการหุ้ม หลังจากที่ได้หุ้มเมล็ดไว้ครบ ๓๖-๔๘ ชั่วโมงแล้ว เมล็ดข้าวก็จะงอก จึงเอาไปหว่านลงบนแปลงกล้าที่ได้เตรียมไว้ ก่อนที่จะหว่านเมล็ดลงบนแปลงกล้า ควรใส่ปุ๋ยพวกที่ให้ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเสียก่อน และใช้ไม้กระดานลูบแปลงเพื่อกลบปุ๋ยลงไปในดิน หากดินดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน ๔๐-๕๐ กิโลกรัมต่อเนื้อที่แปลงกล้าหนึ่งไร่ เมื่อต้นกล้ามีอายุครบ ๒๕-๓๐ วัน นับจากวันหว่านเมล็ด ต้นกล้าก็จะมีขนาดโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ การตกกล้าแบบนี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในการทำนาดำในประเทศไทย
การตกกล้าในดินแห้ง
การตกกล้าในดินแห้ง ในกรณีที่ชาวนาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการตกกล้าในดินเปียก ชาวนาอาจทำการตกกล้าบนที่ดินซึ่งไม่มีน้ำขัง โดยเอาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่ยังไม่ได้เพาะให้งอก ไปโรยไว้ในแถวที่เปิดเป็นร่องเล็ก ๆ ขนาดแถวยาวประมาณ ๑ เมตร จำนวนหลายแถว แล้วกลบด้วยดินเพื่อป้องกันนกและหนู หลังจากนั้นก็รดน้ำแบบรดน้ำผักวันละ ๒ ครั้ง เมล็ดก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้าเหมือนกับการตกกล้าในดินเปียก ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน ๗-๑๐ กรัมต่อหนึ่งแถวที่มีความยาว ๑ เมตร และแถวห่างกันประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หลังจากโรยเมล็ดและกลบดินแล้ว ควรหว่านปุ๋ยพวกที่ให้ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสลงไปด้วย

 

 

 
การตกกล้าแบบดาปก
การตกกล้าแบบดาปก การตกกล้าแบบนี้เป็นที่นิยมทำกันมาก ในประเทศฟิลิปปินส์ ขั้นแรกทำการเตรียมพื้นที่ดินเหมือนกับการ ตกกล้าในดินเปียก แล้วยกเป็นแปลงสูงกว่าระดับน้ำ ๕-๑๐ เซนติเมตร หรือใช้พื้นที่ดอนเรียบหรือเป็นพื้นคอนกรีต ก็ได้ แล้วใช้กาบของต้นกล้วยต่อกันเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๑ เมตร และยาวประมาณ ๑.๕ เมตร ต่อจากนั้นเอาใบกล้วยที่ไม่มีก้านกลางวางเรียงเพื่อปู เป็นพื้นที่ในกรอบนั้น ให้เอาด้านล่างของใบหงายขึ้นและไม่ให้มีรอยแตกของใบ เพราะฉะนั้นใบกล้วยที่ปูพื้นนั้นจะต้องวางซ้อนกันเป็นทอด ๆ แล้วเอา เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ซึ่งได้เพาะให้งอกแต่ยังไม่มีรากโผล่ ออกมาโรยลงไปในกรอบที่เตรียมไว้นี้ ใช้เมล็ดพันธุ์หนัก ๓ กิโลกรัมต่อเนื้อที่ ๑ ตารางเมตร ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่โรยลงไปในกรอบ จะซ้อนกันเป็น ๒-๓ ชั้น หลังจากโรยเมล็ดแล้ว จะต้องใช้บัวรดน้ำชนิดรูเล็กมาก รดลงในกรอบที่โรยเมล็ดนี้วันละ ๒-๓ ครั้ง ในที่สุดเมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า ข้อสำคัญในการตกกล้าแบบนี้ คือ ต้องไม่ให้น้ำท่วมแปลงกล้า ต้นกล้าแบบนี้อายุประมาณ ๑๐-๑๔ วัน ก็พร้อมที่ใช้ปักดำได้หรือจะเอาไปปักดำกอละหลาย ๆ ต้น ซึ่งเรียกว่า ซิมกล้า เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งและโตสำหรับปักดำจริง ๆ ซึ่งนิยมทำกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย การที่จะเอาต้นกล้าไปปักดำ ไม่จำเป็นต้องถอนต้นกล้าเหมือนกับวิธีอื่น ๆ เพราะรากของต้นกล้าเกาะกันแน่นระหว่างต้น และรากก็ไม่ได้ทะลุใบกล้วยลงไปในดิน ฉะนั้นชาวนาจึงทำการม้วนใบกล้วยแบบม้วนเสื่อ โดยมีต้นกล้าอยู่ภายในการม้วนก็ ควรม้วนหลวม ๆ แล้วขนไปยังแปลงนาที่จะปักดำ
การปักดำ

การปักดำ เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ ๒๕-๓๐ วัน จากการตกกล้าในดินเปียกหรือการตกกล้าในดินแห้ง ก็จะโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าแบบดาปกนั้น ในเมืองไทยยังไม่เคยปฏิบัติ คิดว่าจะต้องมีอายุประมาณ ๒๐ วัน จึงเอาไปปักดำได้ เพราะต้นกล้าขนาด ๑๐-๑๔ วันนั้น อาจมีขนาดเล็กเกินไปที่จะใช้ปักดำในพื้นที่นาของเรา ขั้นแรกให้ถอนต้นกล้าขึ้นมาจากแปลงแล้วมัดรวมกันเป็นมัด ๆ ถ้าต้นกล้าสูงมากก็ให้ตัดปลายใบทิ้ง สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าในดินเปียก จะต้องสลัดเอาดินโคลนที่รากออกเสียด้วย แล้วเอาไปปักดำในพื้นที่นาที่ได้เตรียมไว้ พื้นที่นาที่ใช้ปักดำควรมีน้ำขังอยู่ประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร เพราะต้นข้าวอาจถูกลมพัดจนพับลงได้ในเมื่อนานั้นไม่มีน้ำอยู่เลย ถ้าระดับน้ำในนานั้นลึกมาก ต้นข้าวที่ปักดำอาจจมน้ำในระยะแรก และทำให้ต้นข้าวจะต้องยึดต้นมากกว่าปกติ จนมีผลให้แตกกอน้อย การปักดำที่จะให้ได้ผลผลิตสูง จะต้องปักดำให้เป็นแถวเป็นแนว และมีระยะห่างระหว่างกอมากพอสมควร โดยทั่วไปแล้วการปักดำมักใช้ต้นกล้าจำนวน ๓-๔ ต้นต่อกอ ระยะปลูกหรือปักดำ ๒๕ x ๒๕ เซนติเมตร ระหว่างกอและระหว่างแถว
นาหว่าน
การปลูกข้าวนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงไปในพื้นที่นาที่ได้ไถเตรียมดินไว้โดยตรง ซึ่งเรียกว่า direct seeding การเตรียมดินก็มีการไถดะและไถแปร ปกติชาวนาจะเริ่มไถนาสำหรับปลูกข้าวนาหว่านตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากพื้นที่นาสำหรับปลูกข้าวนาหว่านไม่มีค้นนากั้น จึงสะดวกแก่การไถด้วยรถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีชาวนาจำนวนมากที่ใช้ แรงวัวและควายไถนา การปลูกข้าวนาหว่านมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การหว่านสำรวย การหว่านคราดกลบหรือไถกลบ และการหว่านน้ำตม

การดูแลรักษาต้นข้าว
ในระหว่างการเจริญเติบโตของต้นข้าว ตั้งแต่การหยอดเมล็ด การหว่านเมล็ด การปักดำ ต้นข้าวต้องการน้ำและปุ๋ยสำหรับการเจริญเติบโต ในระยะนี้ต้นข้าวอาจถูกโรคและแมลงศัตรูข้าวหลายชนิดเข้ามาทำลายต้นข้าว โดยทำให้ต้นข้าวแห้งตาย หรือผลผลิตต่ำและคุณภาพเมล็ดไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นนอกจากจะมีวิธีการปลูกที่ดีแล้ว จะต้องมีวิธีการดูแลรักษาที่ดีอีกด้วย ผู้ปลูกจะต้องหมั่นออกไปตรวจดูต้นข้าวที่ปลูกไว้เสมอ ๆ ในแปลงที่ปลูกข้าวไร่ จะต้องมีการกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย และพ่นยาเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดโรคแมลงศัตรูที่อาจเกิดระบาดขึ้นได้ ในแปลงกล้าและแปลงปักดำ จะต้องมีการใส่ปุ๋ย มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของต้นข้าว และพ่นยาเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าว นอกจากนี้ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปักดำอีกด้วย เพราะวัชพืชเป็นตัวที่แย่งปุ๋ยไปจากต้นข้าว ในพื้นที่นาหว่าน ชาวนาจะต้องกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมีพ่น หรือใช้แรงคนถอนทิ้งไปก็ได้ นอกจากนี้จะต้องพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่นาหว่านมักจะมีระดับน้ำลึกกว่านาดำ ฉะนั้น ชาวนาควรใส่ปุ๋ยก่อนที่น้ำจะลึก ยกเว้นในพื้นที่ที่น้ำไม่ลึกมาก ก็ให้ใส่ปุ๋ยแบบนาดำทั่ว ๆ ไป
การเก็บเกี่ยว

เมื่อดอกข้าวได้บานและมีการผสมเกสรแล้วหนึ่งสัปดาห์ ภายในที่ห่อหุ้มด้วย lemma และ palea ก็จะเริ่มเป็นแป้งเหลวสีขาว ในสัปดาห์ที่สองแป้งเหลวนั้นก็จะแห้งกลายเป็นแป้งค่อนข้างแข็ง และในสัปดาห์ที่สามแป้งก็จะแข็งตัวมากยิ่งขึ้นเป็นรูปร่างของเมล็ดข้าวกล้อง แต่มันจะแก่เก็บเกี่ยวได้ ในสัปดาห์ที่สี่นับจากวันที่ผสมเกสร จึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่า เมล็ดข้าวจะแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้หลังจากออกดอกแล้วประมาณ 28-30 วัน ชาวนาในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ใช้เคียวสำหรับเกี่ยวข้าวทีละหลาย ๆ รวง ส่วนชาวนาในภาคใต้ใช้แกระสำหรับเกี่ยวข้าวทีละรวง เคียวที่ใช้เกี่ยวข้าวมีอยู่ ๒ ชนิด ได้แก่ เคียวนาสวน และเคียวนาเมือง เคียวนาสวนเป็นเคียววงกว้าง ใช้สำหรับเกี่ยวข้าวนาสวนซึ่งได้ปลูกไว้แบบปักดำ แต่ถ้าผู้ใช้มีความชำนาญก็อาจเอาไปใช้เกี่ยวข้าวนาเมืองก็ได้ ส่วนเคียวนาเมืองเป็นเคียววงแคบและมีด้ามยาวกว่าเคียวนาสวน เคียวนาเมืองใช้เกี่ยวข้าวนาเมือง ซึ่งได้ปลูกไว้แบบหว่าน ข้าวที่เกี่ยวด้วยเคียวไม่จำเป็นต้องมีคอรวงยาว เพราะข้าวที่เกี่ยวมาจะถูกรวบมัดเป็นกำ ๆ ส่วนข้าวที่เกี่ยวด้วยแกระจำเป็นต้องมีคอรวงยาว เพราะชาวนาต้องเกี่ยวเฉพาะรวงที่ละรวงแล้วมัดเป็นกำ ๆ
ข้าวที่เกี่ยวด้วยแกระชาวนาจะเก็บไว้ในยุ้งฉางซึ่งโปร่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และจะทำการนวดเมื่อต้องการขาย หรือต้องการสีเป็นข้าวสาร ข้าวที่เกี่ยวด้วยเคียวซึ่งปลูกไว้แบบปักดำ ชาวนาจะทิ้งไว้ในนาจนหมดซัง เพื่อตากแดดให้แห้งเป็นเวลา ๓-๕ วัน สำหรับข้าวที่ปลูกแบบหว่านพื้นที่นาจะแห้งในระยะเก็บเกี่ยว ข้าวจึงแห้งก่อนเก็บเกี่ยว ข้าวที่เกี่ยวแล้วจะกองทิ้งไว้บนพื้นที่นาเป็นรูปต่าง ๆ กันเป็นเวลา ๕-๗ วัน เช่น รูปสามเหลี่ยม แล้วจึงขนมาที่ลานสำหรับนวด ข้าวที่นวดแล้วจะถูกขนย้ายไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง หรือส่งไปขายที่โรงสีทันทีก็ได้
การนวดข้าว

การนวดข้าว หมายถึง การเอาเมล็ดข้าวออกจากรวง แล้วทำความสะอาดเพื่อแยกเมล็ดข้าวลีบและเศษฟางข้าวออกไป เหลือไว้เฉพาะเมล็ดข้าวเปลือกที่ต้องการเท่านั้น ขั้นแรกจะต้องขนข้าวที่เกี่ยวจากนาไปกองไว้บนลานสำหรับนวด การกองข้าวสำหรับนวดก็มีหลายวิธี แต่หลักสำคัญมีอยู่ว่าการกองจะต้องเป็นระเบียบ ถ้ากองไม่เป็นระเบียบมัดข้าวจะอยู่สูง ๆ ต่ำ ๆ ทำให้เมล็ดข้าวได้รับความเสียหายและคุณภาพต่ำ ปกติจะกองไว้เป็นรูปวงกลม
ชาวนามักจะนวดข้าวหลังจากที่ได้ตากข้าวให้แห้งเป็นเวลา ๕-๗ วัน ซึ่งเมล็ดข้าวเปลือกมีความชื้นประมาณ ๑๓-๑๕% เมล็ดที่ได้เกี่ยวมาใหม่ ๆ จะมีความชื้นประมาณ ๒๐-๒๕% การนวดข้าวก็ใช้แรงสัตว์ เช่น วัว ควาย ขึ้นไปเหยียบย่ำเพื่อขยี้ให้เมล็ดหลุดออกจากรวงข้าว รวงข้าวที่เอาเมล็ดออกหมดแล้ว เรียกว่า ฟางข้าว ที่กล่าวนี้เป็นวิธีหนึ่งของการนวดข้าว ซึ่งที่จริงแล้วการนวดข้าวมีหลายวิธี เช่น การนวดแบบฟาดกำข้าว การนวดแบบใช้คำย่ำ การนวดแบบใช้ควายย่ำ การนวดโดยใช้เครื่องทุ่นแรงย่ำ

 

 

 

 

 

 

 
การทำความสะอาดเมล็ดข้าว
การทำความสะอาดเมล็ดข้าวหมายถึง การเอาข้าวเปลือกออกจากสิ่งเจือปนอื่น ๆ ซึ่งทำได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
๑. การสาดข้าว ใช้พลั่วสาดเมล็ดข้าวขึ้นไปในอากาศ เพื่อให้ลมที่ได้จากการกระพือพัดเอาสิ่งเจือปนออกไป ส่วนเมล็ดข้าวเปลือกที่ดีก็จะตกมารวมกันเป็นกองที่พื้น
๒. การใช้กระด้งฝัด โดยใช้กระด้งแยกเมล็ดข้าวดีและสิ่งเจือปนให้อยู่คนละด้านของกระด้ง แล้วฝัดเอาสิ่งเจือปนทิ้ง วิธีนี้ใช้กับข้าวที่มีปริมาณน้อย ๆ
๓. การใช้เครื่องสีฝัด เป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้หลักการให้ลมพัดเอาสิ่งเจือปนออกไป โดยใช้แรงคนหมุนพัดลมในเครื่องสีฝัดนั้น พัดลมนี้อาจใช้เครื่องยนต์เล็ก ๆ หมุนก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีทำความสะอาดเมล็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง
การตากข้าว

เพื่อรักษาคุณภาพเมล็ดข้าวให้ได้มาตรฐานอยู่เป็นเวลานาน ๆ หลังจากนวดและทำความสะอาดเมล็ดแล้ว จึงจำเป็นต้องเอาข้าวเปลือกไปตากอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเอาไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ทั้งนี้เพื่อให้ได้เมล็ดข้าวเปลือกที่แห้ง และมีความชื้นของเมล็ดประมาณ ๑๓-๑๕% เมล็ดข้าวในยุ้งฉางที่มีความชื้นสูงกว่านี้ จะทำให้เกิดความร้อนสูงจนคุณภาพข้าวเสื่อม นอกจากนี้จะทำให้เชื้อราต่าง ๆ ที่ติดมากับเมล็ดขยายพันธุ์ได้ดี จนสามารถทำลายเมล็ดข้าวเปลือกได้เป็นจำนวนมาก การตากข้าวในระยะนี้ ควรตากบนลานที่สามารถแผ่กระจายเมล็ดข้าวให้ได้รับแสงแดดโดยทั่วถึงกัน และควรตากไว้นานประมาณ ๓-๔ แดด ในต่างประเทศเขาใช้เครื่องอบข้าว เพื่อลดความชื้นในเมล็ด ซึ่งเรียกว่า drier โดยให้เมล็ดข้าวผ่านอากาศร้อน
การเก็บรักษาข้าว
หลังจากชาวนาได้ตากเมล็ดข้าวจนแห้ง และมีความชื้นในเมล็ดประมาณ ๑๓-๑๕% แล้วนั้น ชาวนาก็จะเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพื่อไว้บริโภคละแบ่งขาย เมื่อข้าวมีราคาสูง และอีกส่วนหนึ่งชาวนาจะแบ่งไว้ทำพันธุ์ ฉะนั้นข้าวพวกนี้จะต้องเก็บไว้เป็นอย่างดี โดยรักษาให้ข้าวนั้นมีคุณภาพได้มาตรฐานอยู่ตลอดเวลาและไม่สูญเสียความงอก ข้าวพวกนี้ควรเก็บไว้ในยุ้งฉางที่ดี ซึ่งทำด้วยไม้ยกพื้นสูงอย่างน้อย ๑ เมตร อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อจะได้ระบายความชื้นและความร้อนออกไปจากยุ้งฉาง นอกจากนี้หลังคาของฉางจะต้องไม่รั่ว และสามารถกันน้ำฝนไม่ให้หยดลงไปในฉางได้ ก่อนเอาข้าวขึ้นไปเก็บไว้ในยุ้งฉางจำเป็นต้องทำความสะอาดฉางเสียก่อน โดยปัดกวาดแล้วพ่นด้วยยาฆ่าแมลง

 

การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม

การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม

พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกในประเทศไทยปัจจุบันสามารถแบ่งได้ตามลักษณะการเจริญเติบโตของพันธุ์และแบ่งได้ตามลักษณะของชนิดเนื้อแป้งของเมล็ด ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เป็นต้น ปัจจุบันการแบ่งตามลักษณะที่เกษตรกรคุ้นเคยเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1.ข้าวนาปี (พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง) : เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกได้เฉพาะในฤดูฝน หรือที่เกษตรกรเรียกว่า ข้าวนาปี ข้าวนาปีนี้เป็นพันธุ์ข้าวที่มีการออกดอกตรงตามฤดูกาลเพราะต้องการช่วงแสงจำเพาะเพื่อการออกดอก ไม่ว่าจะปลูกข้าวพันธุ์นั้นเมื่อใด เช่น พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 (ในภาคอีสาน) จะออกดอกประมาณวันที่ 20 ตุลาคม ซึ่งไม่ว่าจะปลูกข้าวพันธุ์นี้เมื่อใด ก็จะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมเท่านั้น

2.ข้าวนาปรัง (พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง) : เป็นพันธุ์ข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวค่อนข้างแน่นอน เมื่อมีอายุครบถึงระยะเวลาออกดอกข้าวพันธุ์นั้นจะออกดอกได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยช่วงแสงเป็นตัวกำหนด ทำให้ข้าวชนิดนี้สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่เกษตรกรมักจะเรียกว่าข้าวนาปรัง แม้ว่าจะปลูกได้ทั้งในฤดูนาปี ที่อาศัยน้ำฝน และในช่วงฤดูแล้งที่ต้องอาศัยน้ำชลประทาน พันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้ปลูกในขณะนี้ มีทั้งข้าวพันธุ์พื้นเมือง ทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว ที่ปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน และพันธุ์ข้าวดีของทางราชการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอยู่ทุกวันนี้

ชื่อพันธุ์ข้าว
ชนิดพันธุ์ข้าว
แหล่งปลุก
ผลผลิต (กก./ไร่)
ขาวดอกมะลิ 105 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ทุกภาค, นิยมปลูกภาคอีสาน
515
กข15 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง นิยมปลูกภาคอีสาน
560
กข6 ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง ภาคเหนือ,ภาคอีสาน
670
เหนียวสันป่าตอง ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง ภาคเหนือ,ภาคอีสาน
520
สันป่าตอง ข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง ภาคเหนือตอนบน
630
สกลนคร ข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง ภาคอีสาน
467
สุรินทร์ 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ภาคอีสาน
620
ชัยนาท 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ภาคกลาง,ภาคเหนือตอนล่าง
670
สุพรรณบุรี 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง เขตชลประทานทุกภาค
750
สุพรรณบุรี 2 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ภาคกลาง,ตะวันออก,ตะวันตก
700
ปทุมธานี 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง เขตชลประทานภาคกลาง
712
พิษณุโลก 2 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ภาคเหนือตอนล่าง
807
หันตรา 60 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ภาคกลาง,น้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร
425
ปราจีนบุรี 1 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ภาคกลาง,ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคตะวันออก
500
ปราจีนบุรี 2 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ภาคกลาง,ภาคตะวันออก
846

ปริญญาทำนา เก๊ก ชัยพล ยิ้มไทร

ชาวนาเงินล้าน ชัยพร พรหมพันธุ์

รูปภาพ

เครื่องมือลูบข้าวดีด การกำจัดข้าวดีด ของลุงชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน

การกำจัด “ข้าวดีด” ที่ต้องใช้ไม้ยาวๆ มีเชือกร้อยเข้ากับลูกรอกปลายไม้ โดยเชือกนี้จะชุบน้ำยาฆ่าหญ้าไว้แล้ว เสร็จแล้วก็จะเดินไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เชือกที่ชุบน้ำยาลูบไปตามลำต้นข้าวดีด ซึ่งจะมีต้นยาวสูงกว่าข้าวปกติ ตรงจุดไหนโดนน้ำยาเพียงไม่กี่วันต้นข้าวดีดก็จะแห้งตาย ถ้าจ้างเขากำจัดข้าวดีดตกไร่ละ 50 บาท แต่ชัยพรลงมือเองโดยประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเอง ที่ช่วยผ่อนแรงในการรั้งไม้ที่ยาวกว่า 3 วา ประหยัดต้นทุนไปได้อีกเยอะ

ชัยพรบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่คิดเสียดายเงินค่าแรง แต่คนที่รับจ้าง “ลูบยา” ข้าวดีดมักจะทำไม่ถูกใจ พร้อมกับชี้ไปที่นาที่อยู่ติดๆ กัน ซึ่งต้นข้าวมีสีน้ำตาลเข้มตัดกับสีเขียวของที่นาของชัยพร โดยบอกว่านาโน้นจ้างคนมาลูบยากำจัดข้าวดีด แต่ลูบไม่ดีทำให้ไปโดนต้นข้าว ต้นข้าวก็เลยเสียหาย ข้าวแปลงที่เห็นนั้นเก็บเกี่ยวไม่ได้แล้ว แต่ถ้าหาก “ลูบยา” เอง ต้นข้าวก็จะไม่โดนยาไม่มีปัญหาอะไร