Category Archives: ชาวนาตัวอย่าง

ลุงฟาง ทำนาโดยไม่ต้องทำนา

newsในอัลบั้ม “หากหัวใจยังรักควาย” ของวงคาราบาว เพลงชุดท้ายในแผ่นที่ 2 มีชื่อว่า “ลุงฟาง”
เพลงนี้เกิดมาจากการเรียบเรียงเรื่องราวของชายชาวญี่ปุ่นที่ชื่อมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ชายผู้ที่กลับคืนสู่วิธีธรรมชาติด้วยการทำนาโดยไม่ต้องทำนา เก็บเวลาไว้คุยกับตะวัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงนี้ทำให้หลายคนรู้จักมาซาโนบุ ฟูกูโอกะไม่ต่างจากหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” (ในชื่อภาษาไทย) ที่เขาเขียน
แต่ปัจจุบันศาสตร์ที่ว่าด้วยการ “ทำนา โดยไม่ต้องทำนา” นี้ ดูจะกลายเป็นวิถีที่ล้าหลังและโบราณไม่ต่างจากอายุของลุงฟาง
ในวันที่เทคโนโลยียกระดับขีดความสามารถไปข้างหน้าเพื่อสนองต่อความต้องการบริโภคจำนวนมากของคนบางกลุ่ม หลักปฏิบัติ 4 ข้อ ใจความสำคัญอันว่าด้วย (1) ไม่ไถพรวนดิน (2) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก (3) ไม่จำกัดวัชพืช ไม่ว่าด้วยการถากถางหรือใช้ยากำจัดวัชพืช (4) ไม่ใช้สารเคมี ดูจะเป็นสิ่งไม่ทันกาล
เพราะถึงจะมีข้อดี (1. สมดุลทางธรรมชาติไม่ถูกทำลาย 2.) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อคนและสัตว์ 3.) สามารถปรับปรุงการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมให้ดีขึ้น 4.) ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพปราศจากสารพิษ 5.) ลดต้นทุนการผลิต และใช้แรงงานน้อย) แต่ก็มีสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อเสียเช่นกัน
1.) ต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ 2.) เห็นผลช้า ไม่รวดเร็วทันใจ 3.) เกษตรกรต้องมีความพยายามและมีความอดทน 4.) ผลิตผลไม่สวยงามเมื่อเทียบกับการเกษตรสมัยใหม่ 5.) ไม่สามารถผลิตเป็นการค้าได้ทีละมากๆ
ซึ่งข้อเสียที่ว่า ส่งผลบรรษัทให้ข้ามชาติ และในชาติหลายรายผลิตสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการเติบโตของพืชผลให้แก่เกษตรกรออกขายสู่ตลอดอย่างทันท่วงที

news

ไม่ใช่ว่าจะเห็นนวัตกรรมนี้ว่าดีกว่า แต่สิ่งที่ว่าดีก็มีข้อเสียเหมือนกับที่การทำนาโดยไม่ต้องทำนามีข้อเสียเช่นกัน
กลางเดือนมกราคม ไทยตกเป็นข่าวใหญ่ในเวทีโลก เมื่อทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ได้ทำการระงับส่งออกสินค้าพืชผัก 16 ชนิด อาทิ กะเพรา โหระพา พริกขี้หนู ฯลฯ จากประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการตรวจพบว่าพืชผักที่ว่านั้นมีสารเคมีตกค้างจากการผลิต
หลังจากเกิดเรื่องนี้ขึ้น ผู้ใหญ่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ออกมาประกาศกร้าวว่าต่อไปนี้จะตรวจสอบผู้ ส่งออกสินค้าทางการเกษตรอย่างจริงจัง ใครที่ส่งของผิดหลักคุณภาพมาจะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด
ถึงกระนั้นในเวลาเดียวเมื่อลองตรวจสอบลงในรายละเอียดก็พบเรื่องชวนตกใจ
ประเทศไทยใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปีละเกือบ 140 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 17,000 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด ในโลกถึง 25,000 ชื่อ ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนพันกว่าชื่อเท่านั้น
สารเคมีที่ใช้กันมากใน ไทยอย่างคาร์โบฟูแรน (ยาฆ่าแมลง) ทางประเทศผู้ผลิตคือสหรัฐอเมริกาได้สั่งเลิกใช้แล้ว และทางกลุ่มประเทศอียูก็ได้ห้ามใช้และนำเข้าอย่างเด็ดขาด
จึงไม่แปลกที่ไทยจะต้องถูกแบนสินค้าส่งออกทางการเกษตร
ลองกลับมาดูใจความสำคัญของการทำนาโดยไม่ต้องทำนาใหม่อีกหน
1) ไม่ไถพรวนดิน 2) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก 3) ไม่จำกัดวัชพืช ไม่ว่าด้วยการถากถางหรือใช้ยากำจัดวัชพืช 4) ไม่ใช้สารเคมี แท้จริงแล้วก็คือ “การแทรกแซงธรรมชาติของมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุด”
หรือจะเรียกว่าเป็นการทำเกษตรแบบดั้งเดิมก็ว่าได้
ลองดูเพิ่มเติมในข้อที่บอกว่าไม่ใช้สารเคมี มีคำอธิบายว่า
“เมื่อพืชอ่อนแอลงเพราะผลจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่การไถพลิกดิน การใช้ปุ๋ย เป็นต้นทำให้เกิดความไร้สมดุลของโรคพืช และแมลงก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ในการเกษตร”
“ธรรมชาตินั้นหากปล่อยไว้ตามลำพังก็จะอยู่ในสภาพสมดุล แมลงที่เป็นอันตรายและโรคพืชมักมีอยู่เสมอแต่ในธรรมชาตินั้นมันจะไม่เกิดขึ้นจนถึงระดับที่ต้องใช้สารที่มีพิษเหล่านั้นเลย”
“วิธีการควบคุมโรคและแมลงที่เหมาะสมคือการปลูกพืชที่แข็งแรง ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์”

นั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า หลักการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะฟื้นฟูดินและระบบนิเวศน์ในไร่นาให้กลับมีชิวิตชีวาพร้อมพรั่งดังเดิม หากยังเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พรรณไม้และพืชผล ทั้งในทางปริมาณและคุณภาพเหนือกว่าเกษตรกรรมแผนใหม่ซึ่งเน้นวิทยาการขั้นสูง
แล้ววันนี้เราจะยังจะกลับไปพึ่งพิงสารเคมีที่ผลต่อการทำลายธรรมชาติอีกทำไม

news

ทำนา แบบไม่ไถ่ ไม่ดำ ไม่ใช้เงิน..!

คำถามชวนหัว.. เมื่อแรกพบกับคุณลุงผมเทา ที่กำลังเล่าเรื่องการทำนาให้ชาวนาฟัง อยู่หน้าบูธแสดงผลงานในนิทรรศการพลังงานฯ ณ งานคุ้มโฮมฯ ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผมจึงยิงคำถามตามในทันใด ทั้งที่รู้สึกแปลกทั้งในเรื่องประเด็นและคนเล่าว่า ลุงเป็นใครกันหนอพูดเสียงดังฟังชัดเหลือเกิน..!

เป้าหมายของผมคือ ไม่ไถ ไม่ดำ ให้ข้าวขึ้นเองตามธรรมชาติ คนส่วนใหญ่ไถนาเพราะกลัวหญ้าการปราบหญ้าอันดับแรก มีอะไรทำอย่างนั้น มีน้ำก็ใช้น้ำ มีต้นไม้ก็ใช้ต้นไม้ มีแรงก็ใช้แรงได้ออกกำลังแปลงออกกำลังกายของผม 16 ไร่ ใช้เครื่องตัดหญ้าแล้วก็แช่ ถ้าไม่มีน้ำก็ตัดไปเรื่อยๆ อย่าให้มันออกดอกและห้ามไถนาเพราะจะทำให้เมล็ดหญ้าที่อยู่ใต้ดินเติบโตขึ้นมาอีก หลังจากนั้น เมื่อแน่ใจว่าไม่มีหญ้าขึ้นแล้วก็ทำการหว่าน
“ผมหว่านข้าวโดยไม่แช่ข้าวเปลือก ไร่ละ 1-2 กิโลกรัม ถ้าจะให้ประหยัดก็ใช้แกลบของตนเองที่ได้จากการเกี่ยวด้วยมือ ผมจะไม่ใช้แกลบของคนอื่นเพราะแกลบจากโรงสีคนอื่นจะได้ทั้งเมล็ดหญ้าและข้าวสารพัดพันธุ์ ทั้งนี้ เศษเหลือจากการสีไม่ได้มีแต่แกลบ แต่มีเมล็ดข้าวด้วย เป็นเมล็ดข้าวที่ยังมีจมูกข้าว และไม่ต้องใช้มาก ตารางเมตรหนึ่งแค่ 3 กอ ถ้าได้ 5 กอก็ถือว่าสุดยอดแล้ว พอได้เวลาเกี่ยวก็ไปบอกคนที่ต้องการซื้อข้าวมาเกี่ยวข้าวแบ่งกันได้ผลผลิต ต่อไร่ประมาณ 7-8 ร้อยกิโลกรัม แม้จะได้ผลผลิตน้อยกว่าการดำนา แต่การทำนาแบบผสมไม่มีต้นทุน
             “ประเด็นสำคัญคือ ต้องใช้ความรู้มากกว่าความเชื่อ เปลี่ยนความคิดให้อยากจะพึ่งตนเองก่อน และใช้สิ่งที่เรามีมากกว่าสิ่งที่เราไม่มี ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้ความเชื่อที่ทำกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแล้ว
              “อย่างการทำป่าล้อมนา คือการนำของเก่ากลับคืนมา ชาวบ้านเขาจะตัดต้นไม้ออกหมด เราก็ทำสวนทางความคิดชาวบ้าน เพราะเขากลัวต้นไม้จะหงำหมายถึงกลัวต้นไม้จะแข่งกับต้นข้าว ซึ่งการแข่งขันนั้นมีสองส่วนคือ แข่งขันที่รากและแข่งขันที่ยอด
“ราก เราใช้ร่องน้ำกัน ส่วนยอดเราตัดก็จบที่เหลือก็มีแต่ข้อดี ใบไม้ร่วงมากลายเป็นปุ๋ยตลอดทำบนพื้นที่นาประมาณ 4-5 ไร่กำลังสวย ต้นไม้จะเป็นพี่เลี้ยง ให้ทั้งอินทรียวัตถุ ป้องกันลม วงจรชีวิตของสัตว์ต่างๆ ระบบนิเวศ พึ่งพาอาศัยกัน ไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะธรรมชาติดูแลตัวเอง ป่าคือทรัพยากรพื้นฐานที่เป็นตัวกลางในการนำพาทุกอย่างมาพึ่งพาอาศัยกัน และพยายามปลูกแนวตะวันออกไปตะวันตกอย่าปลูกแนวเหนือไปใต้ เพราะต้นไม้จะบังแสงแดด
“นี่คือหลักการใช้ความรู้และใช้ทรัพยากรที่มีทุกอย่างคลี่คลายหมด เราเลือกข้าวเอง กินเอง ทำแบบคนจน แต่มีความรู้ และจะไม่มีวันจน เพราะไม่มีทุน ทุนคือแรง ยิ่งลงเท่าไหร่ก็ได้กำไรเท่านั้น
              “และข้าวที่ได้มาต้อง กิน-แจก-แลก-ขาย สังคมไทยต้องมี 4 ข้อนี้ ถ้าคุณไม่กิน คุณก็จะทำแบบห่วยๆ ชุ่ยๆ ใส่ปุ๋ยเคมีมากมาย มีข้าวแล้วไม่แจกก็ไม่มีเพื่อน ไม่แลกก็ไม่มีฐานทรัพยากรไว้ใช้ ไม่ขายก็ไม่มีปัจจัยมาสร้างอะไรได้ จึงต้องมี 4 ข้อ และห้ามข้ามขั้นตอน”
หลังจากการพูดคุยอย่างออกรส จนผมต้องมาตามชมต่อที่บ้าน โดยตามเข้าไปในว็บบล็อกและได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเนื่องจากการทดลอง ปลูกข้าวโดยไม่ต้องไถนี้ โดย นายอนุวัฒน์  เจิมปรุ นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ปีที่ 2 ได้ลงพื้นที่ทำการเก็บข้อมูลในแปลงนาของ ลุงแสวง  วัดผลผลิตข้าวได้ 177 รวง/ตารางเมตร ฟางข้าวสด 2.3 กิโลกรัม/ตารางเมตร มีวัชพืชปน 34 ตัน/ตารางเมตร น้ำหนักสด 300 กรัม/ตารางเมตร เมล็ดข้าวต่อรวงเฉลี่ย 150 เมล็ด/รวง มีเมล็ดลีบเพียง 1.5% ได้ผลผลิตประมาณ 600-700 กิโลกรัม/ไร่
ดร.แสวง  รวยสูงเนิน  ลูกชาวนายากจน ข้าวไม่เคยพอกินจึงหนีการทำนาและเลี้ยงวัวควาย ไปอาศัยอยู่วัดจนเรียนจบด้านเกษตรศาสตร์ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานร่วมกับชุมชนจนมีชีวิตครบวงจร นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง และทุ่มเทชีวิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยสนับสนุนการพัฒนาชุดความรู้ด้านการจัดการดินน้ำ ทรัพยากรเกษตร เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารพิษในระบบการผลิตอาหารโดยนำความรู้ไปทดสอบในหลายพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงสู่การเปลี่ยนแปลงแผนและนโยบายในระดับชุมชนพื้นที่และระดับประเทศ

เกือบหนึ่งชั่วโมงของการพูดคุยอย่างออกรสจนคำนำหน้านามว่า “ลุง” เปลี่ยนเป็น “อาจารย์” เมื่อได้เห็นป้ายบูธด้านหน้าเขียนว่า ดร.แสวง รวยสูงเนิน ผู้ท้าทายชาวนาให้หัดเรียนรู้ธรรมชาติแบบน้อบน้อมและเข้าใจกันและกัน พร้อมกับคำยืนยันที่ดังก้องอยู่ในหัวผม ชวนท้าทายความเป็นมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำอย่างเราว่า
“ผมไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ทุกอย่างที่เห็นในวันนี้ต้องดิ้นรนมาแทบตายกว่าจะได้มา นี่คือความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย ถ้าเราทำแบบคนจนเราจะไม่มีวันจน..”

ทำนาแบบไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใช้สารเคมี มีข้อจำกัดและทางเลือกทำได้อย่างไรบ้าง

ผมมีนาแค่ ๔ ไร่จะทำอย่างไรก็ไม่ยาก แต่ชาวบ้านที่มีนา ๒๐ ไร่จะทำอย่างผมไม่ได้ โดยชาวบ้านไม่คิดว่า การทำนาแบบไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใช้สารเคมีนั้น ใช้ความพยายามไม่ต่างกันเท่าไหร่ในแปลงใหญ่-เล็ก แต่ใช้ความรู้กันคนละชุดแน่นอน

 

ปีที่ผ่านมา ผมได้ขยายที่ทำนาเพื่อลดความไม่เข้าใจจากสมาชิกเกษตรกร ที่ว่าผมมีนาแค่ ๔ ไร่จะทำอย่างไรก็ไม่ยาก แต่ชาวบ้านที่มีนา ๒๐ ไร่จะทำอย่างผมไม่ได้ โดยชาวบ้านไม่คิดว่า การทำนาแบบไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใช้สารเคมีนั้น ใช้ความพยายามไม่ต่างกันเท่าไหร่ในแปลงใหญ่-เล็ก แต่ใช้ความรู้กันคนละชุดแน่นอน

 

ผมจึงได้ลองขยายนาเป็น ๑๗ ไร่ ในปีนี้ และกะว่าจะขยายเป็นอย่างน้อย ๒๕ ไร่ในไม่เกิน ๒ ปีข้างหน้า

 

และผมได้พยายามศึกษาแนวคิดการทำนาคลุมฟางของท่านปราชญ์ญี่ปุ่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ แล้วลองมาทบทวนดูจะทำได้อย่างไร ด้วยข้อจำกัดที่ว่า

 

 

  • จะป้องกันไฟลามทุ่งหรือคนแอบมาเผาฟางเล่นได้อย่างไร
  • จะลดการแทะเล็มของสัตว์ หรือจะให้สัตว์ไปกินหญ้าที่ไหน
  • ฟางหนาแค่ไหนจึงจะพอ และไม่หนาเกินไปจนข้าวงอกไม่ได้
  • ถ้าหญ้างอกมาแข่งกับข้าว จะทำอย่างไร

 

ปีที่ผ่านมาผมก็ได้ลองหลายรูปแบบ และปรากฏผลดังนี้

 

  • ทำร่องรอบนา เลี้ยงปลา กันไฟลามทุ่งได้ดี
  • ปลูกพืชคลุมดินบนคันนากันไฟ คนเกรงใจไม่กล้าจุดไฟใกล้ๆนาของผม
  • ทำรั้วกันวัวควาย ปลูกหญ้าให้วัวควายกินต่างหาก วัวควายไม่แสดงอาการโกรธให้เห็น
  • ลองคลุมฟางหนาต่างๆกัน(ไม่เกิน ๓ นิ้ว) ข้าวงอกได้ดี แต่หญ้าจะไม่ค่อยงอก แม้แต่แสงรำไร ที่ผิวดิน
  • บริเวณที่หญ้างอกมากหน่อย ใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายหลังตัดทั้งหมดตอนหญ้าเริ่มออกดอก
  • ผมได้ลองตัดหญ้าหลายความสูง แต่ที่ ๓-๔ นิ้วจากดินดีที่สุด หญ้าจะแตกยอดใหม่ไม่ทันข้าว ถ้าสูงกว่านี้ หญ้าจะแตกตาใหม่อีก
  • ถ้าตัดต่ำกว่านี้ ข้าวจะแตกช้าหน่อย แต่เหมาะกับที่ไม่มีน้ำขัง
  • ถ้ามีน้ำเข้านาหลังตัด จะยิ่งทำให้หญ้าเน่า แต่ข้าวโตไวพ้นน้ำได้เร็ว แต่น้ำไม้ควรเกิน ๘ นิ้ว เพื่อให้ต้นข้าวแตกใหม่แข็งแรง แตกกอดี

วันนี้ผมได้ทางเลือกในการลดการแข่งขันของหญ้าดังนี้

  1. อย่าใช้รถเกี่ยวข้าว เพราะจะเหยียบฟาง ทำให้หญ้างอกมาก
  2. ฟางที่ตั้งอยู่ในนาจะกันหญ้างอกได้บางส่วน แต่ข้าวจะงอกได้
  3. ถ้ามีฟางเพิ่มหรือใบไม้ขนาดเล็ก ใช้คลุมกันหญ้างอก แต่ควรเป็นฟางข้าวพันธุ์เดียวกัน เพื่อลดปัญหาข้าวปนกัน
  4. ถ้ามีน้ำที่ทดเข้านาได้ ให้ทำทันทีหลังข้าวงอกได้ ๒-๓ ใบ
  5. ถ้ามีควายให้ปล่อยควายเข้ากินในนาที่หว่าน ในช่วงไม่มีน้ำขัง ให้กันควายออก เมื่อน้ำขังแช่ หรือเมื่อข้าวเริ่มย่างปล้อง ควาย ๑ ตัวคุมพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า ๒ ไร่
  6. ถ้ามีวัวให้ทำแบบเดียวกับควาย แต่อาจใช้เครื่องตัดหญ้าช่วย ก่อนน้ำขัง หรือทดน้ำเข้านา
  7. ใช้แรงงานคนช่วยถอนในจุดที่หญ้าไม่มากนัก(กรณีแปลงเล็ก)
  8. ถ้ามีคูน้ำรอบนาให้เลี้ยงปลากินหญ้าแช่น้ำ เช่น ปลาเฉาฮื้อ
  9. (กำลังคิดกำลังลองอยู่ครับ)ใช้คราดแบบตอกตะปูครูดหน้าดินให้เป็นแถบ แบบหลักการของ SRI

สำหรับการกำจัดหอยเชอรี่นั้น ต้องมีบ่อหรือคูน้ำรอบนา ให้ปล่อยปลาจาระเม็ดน้ำจืด (ปลาเปคูแดง)โดยไม่ต้องให้อาหาร ปลาจะคอยกินไข่และลูกหอยเชอรี่ที่ไม่เกิน ๑ ซม.แต่ถ้าปลาโตแล้วอาจกินได้โตกว่านั้น สำหรับปูในนา ใช้ตาข่ายดักตามทางน้ำเข้านาก็แทบหมด ตามเก็บอีกสักหน่อยก็เรียบร้อยครับ

กรุณารอผลการทำนา ๒๕ ไร่แบบคนขี้เกียจ (ชาวบ้านพูด) โดยใช้เวลาตี ๕-๗ โมงเช้า ๓-๕ ทุ่มทุกวัน และวันหยุดที่ว่างไม่ติดประชุมเครือข่าย มาทำนา ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร จะแจ้งให้ทราบ(มีรายละเอียดอีกมากครับ)

ถ้าสนใจและสะดวกมาที่นาผมวันหยุด และนัดล่วงหน้า จะชัดเจนครับ

 

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

 

วิธีการทำนาปลอดเคมีและความคิดปลูกข้าว แบบลดต้นทุน เพิ่มกำไร โดย ชัยพล ยิ้มไทร ปริญญาทำนา

ได้ข้อมูล มาจาก เฟสบุ๊ค ของคุณ ชัยพล ยิ้มไทร

บทที่ 1 ไถนา
อุปกรณ์ประกอบไปด้วย รถไถเดินตาม ผาล เลื่อนนั่ง เครื่องตัวนี้ซื้อจากเชียงกง เป็นเครื่อง 10 แรงม้าซื้อมาตัวละ 16000 บาท รถไถซื้อจากร้านขายของเก่ากิโลละ 11บาท เป็นเงิน3240บาท ผาลก็มือสองราคา500 บาท การทำนาไม่จำเป็นต้องเริ่มจากของมือหนึ่งครับ ค่อย ๆหา ค่อย ๆซื้อ ครับ ค่อยเป็นค่อยไป ผมเองเริ่มจากทำนา 9 ไร่ และเครื่องมือราคาประหยัด

หลังจากที่ไถกลบฟางและใส่น้ำไว้สี่ถึงห้าวัน จึงเริ่มใช้ลูกควักพรวนดิน ที่เห็นต่อข้าวเขียว ๆคือ ควักไว้หนึ่งรอบ(ตลบ) และทิ้งไว้หนึ่งคืน ตรงดินดำ ๆคือรอบที่สอง(อีกหนึ่งตลบ) การทำนาไม่เผาฟาง ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องใช้เครื่องมือให้เหมาะสมและให้เวลากับงานบ้างเท่านั้นเอง…ทำนาอย่างเร่งร้อนจนคนชั่วรุ่นหนึ่งกำลังจะจากไป..ไม่เห็นมีความมั่นคงในชีวิตสักที…มาทำช้า ๆกันดีกว่าใหมครับ ^__^” เผื่อชีวิตอาจดีขึ้น..

บทที่ 2 ควักดิน
หลังจากไถนาเสร็จแล้ว ให้ใส่น้ำจมขี้ไถไว้ เพื่อให้ขี้ไถนิ่ม(ยิ่งนานยิ่งดี จะทำให้ฟางเปื่อยและดินเละ) หากมีเวลาก็ควักสักสองรอบ(ตลบ)แล้วทิ้งไว้อีก ข้อดีของลูกควักคือ ทำให้ดินฟู(อุ้มน้ำดี)และลูกควักยังช่วยกระจายกลุ่มฟางที่แน่นหนาออกจากกัน ทำให้ไม่เกิดแก้สฟางเน่า เครื่องมือนี้ลดขั้นตอนการทำนาลงได้มาก ทำให้ดินกลายเป็นเทือกได้ไว้ขึ้น ข้อเสียคือ หนักกำลังเครื่องยนต์ และถ้ารถไถไม่แข็งแรงพอหรือดินเป็นหล่มจะหนักแรงเครื่องยนต์มาก รถไถอาจโซ่ขาดหรือเฟืองแตกได้ ควรลดขนาดวินเครื่องยนต์ลดอย่างน้อยครึ่งนิ้ว

ปล.นายแบบโดย @ท — กับ ทรงวุฒิ ยิ้มไทร

บทที่ 3 ย่ำเทือก
หลักการง่าย ๆ คือ ทำให้ดินที่ไถไว้และควักซื่งยังเป็นก้อน กลายเป็นน้ำเลน อุปกรณ์ที่ใช้มีทั้งลูกจิ้ม ลูกควัก คราด ย่ำไปเรื่อย ๆกระทั่งดินแตกตัว ฟู เทือกยิ่งหล่ม ข้าวยิ่งงาม ในภาพใช้คราดสองคัน และลูกควักหนึ่งคัน เพื่อเก็นงานตรงที่ดินแข็ง ๆ หรือเป็นที่ดอน

บทที่ 4 ลูบเทือก
อุปกรณ์ที่ใช้คือกระดานลูบเทือก หลังจากที่ควักดินจนฟูแล้ว ดินจะยังไม่เรียบ ต้องปรับหน้าดินโดยอุปกรณ์นี้ ให้พื้นเลนเรียบ ยามหว่าน เมล็ดข้าวจะได้ไม่จมน้ำ เพราะพื้นสม่ำเสมอ อุปกรณ์นี้ยังใช้ปรับระดับของดิน โดยดันเอาเลนจากที่ดอนลงไปที่ลุ่ม(เหยียบห้ากระดาน)

บทที่ 5 แช่ข้าว
นำกระสอบข้าวปลูกลงแช่ในน้ำ 24 ชั่วโมง ก่อนจะนำขึ้นมาไว้บนแห้งอีก 24 ชั่วโมง เพื่อให้ข้าวแตกตา และพร้อมสำหรับการนำไปหว่าน โดยปรกติผมจะแช่ข้าวในอ่าง แต่ที่นาไม่มีอ่างเลยใช้ไม้ไผ่สองอันพาดร่องน้ำ และใช้พลาสติกกันน้ำทำเป็นเปลอุ่มข้าวไว้อีกที ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะต้องใส่เชื้อราไตรโครเดอร์ม่าลงไปตอนแช่ข้าวด้วย ในกระป๋องคือไตรโครเดอร์มาร์ที่เพาะเชื้อกับข้าวสุกและน้ำมาใส่น้ำขยำ ๆ ให้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าละลายออกมา(สปอร์) ประโยชน์คือ ราไตรโคเดอร์ม่าจะไปกินราชนิดอื่น ๆที่ทำให้ข้าวอ่อนแอ และช่วยสงเสริมการเจริญของตุ่มตาข้าว

อัตราการหว่านของผม ไร่ละยี่สิบกิโลครับ ต้นข้าวจะไม่หนาแน่นเกินไปแล้วข้าวจะแตกกอดี ไม่แย่งกันสูง ทำให้ไม่ล้มง่าย ช่วยให้แสงแดดส่องถึง โรคแมลงจะไม่รบกวน โดยเฉพาะฤดูกาลนี่เพลี้ยมักระบาด และผมใช้ข้าว กข 31 ซึ่งทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้้ำตาล กันไว้ดีกว่าแก้ครับ เริ่มให้ถูก วางแผนให้ดี แล้วการทำนาจะไม่ใช่เรื่องยากครับ ฝากไว้สักนิดครับ

หลังเสร็จงานในแต่ละวัน ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง เพื่อป้องกันสนิมในถังน้ำมัน ตรวจระดับน้ำมันเครื่อง เพิ่มน้ำมันในกรองอากาศ(แบบเปียก )ล้างรถไถและอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เพื่อง่ายในการตรวจดูจุดหลวมคลอนต่าง ๆเช่นน็อต หรือรอยร้าวอันเกิดขึ้นได้ เช่นตามคอคราด หัวผาน ไม่ได้เก่งมาจากใหน แต่งานมันสอนผมครับ ^__^” ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความปลอดภัยนั่นเอง..

ครบ 100 ชั่วโมงทำงาน ทั้งเครื่องและคน ล้างกรองดีเซล กรองน้ำมันเครื่อง และกรองอาศและเติมน้ำมันในกรองอากาศ(แบบเปียก เท่านี้ เครื่องยนต์ก็จะไม่สึกหรอเร็วเกินไป

ตัวซ้ายเรียกตามประสาชาวบ้านว่าเครื่องพ่นลม(duster)ใช้งานได้สองอย่างทั้งพ่นละอองน้ำกับพ่นเมล็ดปุ๋ย,เมล็ดข้าวมันจะมีชุดดัดแปลงมาให้ราคา2500–3500บาทเป็นเครื่องจากจีนตัวขวาเรียกเครื่องปั้ม(sprayer)ใหม่ญี่ปุ่นราคา10,500 บาท ใช้มาสองปียังไม่เคยรวนครับ

อันนี้เรียก”เลื่อนนั่ง”ทำให้ไม่ต้องเดินตามรถไถ เหนื่อยน้องลง ใช้เหล็กแบนด้านล่างช่วยให้เบาแรงเครื่องขึ้นครับ เรื่องสัดส่วนเดี๋ยวจะวัดให้ครับ ที่นาไม่มีตลับเมตร เดี๋ยววัดให้ครับ

ผานหัวหมูมีสองแบบครับ แบบ ไถพุ่งกับไถแซะ อันนี้ของผมเป็นแบบไถแซะ หน้า 16 นิ้ว เบาแรงเครื่อง กลบฟางได้มิดและฟางไม่ค่อยติดคอผานเพราะขี้ไถจะถูกยกตัวในช่วงท้านของใบผาน(เรียกว่าใบเพล่) ข้อดีอีกอย่างคือขี้ไถจะหักเป็นข้อ ๆ ทำให้ย่ำเทือกง่านกว่าแบบไถพุ่ง

ลูกควัก อันนี้ของอาชัยพรครับ

ผาล สำหรับไถกลบฟางโดยเฉพาะ

คราดจัมโบ้ กว้าง 2.5 เมตร คอคราดยาว ช่วยให้ฟางติดน้อยลง ตาคราดยาว ช่วยกดฟางได้ลึกและเบาแรงเครื่องยนต์(ประหยัดน้ำมัน)

แนะนำหรับหรับคนที่ทำนาเยอะสักหน่อย ถ้ามีท่าสูบน้ำถาวร นี่เลยครับ เครื่อง daihatsu สามสูบ ดัดแปลงติดหม้อต้ม ใช้แก้ส ประหยัดค่าสูบน้ำไปกว่า 40 เปอร์เซน ข้อเสียคือต้องงรู้เรื่องระบบไฟพอควรและใช้ขอดน้ำออกจากนาไม่ได้เพราะรอบมันจัดครับ

ราคาเครื่องยนต์9000-12000แล้วแต่สภาพครับ ค่าหม้อต้ม 2000 แบ็ตอีกสองพันกว่าบาท อัตราสินเปลืองก็แล้วแต่เรื่องเครื่องครับ ยกตัวอย่างให้เห็นนะครับ ฤดูกาลที่แล้ว 143ไร่ค่าสูบน้ำของผม เป็นค้าน้ำมันหกหมื่นกว่าบาท ฤดูนี้หมดค่าแก้สไป สองหมื่นกว่าบาท+ค่าน้ำมันอีกหมื่นกว่าบาทครับ

ก็ได้เครื่องแก๊สนี่แหละ เชื้อเพลิงราคาถูกฤดูกาลนึงหมดไป45ถัง 14000 กว่าบาท น้ำมันใช้หมดไป 90000 กว่าบาท (เก้าหมื่นกว่าบาท) แล้วคุณๆจะเลือกอะไร ฮ่า ฮ่า

“เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (2): “ทำนาผิดวิธี” อนาคต “สิ้นนา สิ้นชาติ”

27 พฤษภาคม 2012

ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th

ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th

แม้ว่า “มูลนิธิข้าวขวัญ” จะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในปี 2541 แต่ อาจารย์ “เดชา ศิริภัทร” เริ่มต้นการทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาชาวนาตั้งแต่จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมในปี 2532

อาจารย์เดชาเล่าว่า การทำงานพัฒนาหรืองานช่วยท้องถิ่นจะเริ่มต้นที่ “ปัญหา” เป็นตัวตั้ง ซึ่งเมื่อกลับมาก็เห็นปัญหาของสุพรรณคือ “ชาวนา” ที่มีจำนวนมาก และปัญหาของชาวนาคือทำงานไม่ถูกวิธี ซึ่งเมื่อนำเทคนิคที่เราถนัดมาจับ พบว่าเทคนิคของชาวนาผิดหมดเลย

การทำนาในปัจจุบันกับทำนาในสมัยโบราณต่างกันมาก อาจารย์เดชาเล่าว่า ก่อนจะไปเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 2508 ตอนนั้นการทำนายังเป็นสมัยโบราณ ใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน คือ ปลูกปีละหน ใช้ควายไถนา วิธีการก็หว่านให้มันขึ้นเอง พอน้ำท่วมก็ปล่อยให้จมไป พอน้ำลดก็เกี่ยว วิธีการแบบนี้ทำมาเป็นพันปีไม่เป็นไร เพราะไม่ใช้ปัจจัยอะไรเลย เกี่ยวข้าวได้เท่าไรก็เท่านั้น แม้จะได้กำไรน้อยมาก แต่ได้เท่าไรก็เป็นกำไรหมด

แต่พอเรียนจบมหาวิทยาลัยปี 2512 อาจารย์เดชาเล่าว่า มีข้าวพันธุ์ใหม่มา คือ ข้าว กข.1 เป็นข้าวนาปรัง ปลูกได้ทั้งปี แต่ถ้าน้ำท่วมจะปลูกไม่ได้เพราะมันไม่จมน้ำ ก็กลายเป็นว่า แทนที่จะปลูกหน้าฝนถึงหน้าน้ำ ก็เปลี่ยนมาปลูกหน้าแล้งตลอด พอหน้าน้ำจะมาก็เลิกปลูก ดังนั้น แทนที่จะปลูกข้าวปีละครั้ง ก็ปลูกปีละ 2 ครั้ง โดยปลูกในช่วงหน้าแล้ง 8 เดือน ได้ 2 ครั้ง ยิ่งพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมและมีชลประทานมาถึงจะปลูกได้ทั้งปีหรือปีละ 3-4 ครั้ง แต่พันธ์ข้าวพื้นบ้านปลูก 4 เดือนได้ครั้งเดียว

“พันธุ์ข้าวใหม่พวกนี้นำการเปลี่ยนแปลงมาเนื่องจากปลูกได้ปีละหลายๆ หนและผลผลิตสูง แต่ผลผลิตสูงก็ต้องการปัจจัยเยอะ ปุ๋ยเคมีก็เข้ามา ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนต่างๆ ก็มา และ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก็เข้ามา”

ช่วงจังหวะเวลาดังกล่าว สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ปี 2504 – 2509 กับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 ตั้งแต่ปี 2510-2514

อาจารย์เดชาสรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับแรก เป็นการวางแผนเตรียมคน เตรียมเขื่อน เตรียมพันธุ์ข้าว พอมาถึงแผนฯ ฉบับที่ 2 ก็เริ่มส่งเสริม ตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้ง ธ.ก.ส. มีพันธุ์ข้าวใหม่มาส่งเสริมให้ชาวนาทำ มีการตั้งเกษตรตำบล และเขตไหนมีชลประทานไปถึง ทางการก็เอาพันธุ์ข้าวใหม่มาแลกเอาพันธุ์ข้าวเก่าไปเก็บเพื่อให้ชาวนาปลูกพันธุ์ข้าวใหม่แทน ทำให้ชาวนาทิ้งพันธุ์ข้าวเก่า ตอนนี้ชาวนาไม่ปลูกพันธุ์พื้นบ้านกันแล้ว แต่การทำนาสมัยใหม่ทำให้เกิดปัญหาคือ

1. ชาวนามีปัญหาหนี้สินเยอะ

2. ทำนาแล้วมีแต่ขายนา

3. ทำนาแล้วลูกหลานหนีหมด

“ปัญหาดังกล่าวทำให้แทนที่ชาวนาจะเป็นกระดูกสันหลังก็กลับกลายเป็นรากหญ้า แบบนี้เขาเรียกว่า ‘ดูถูก’ และชาวนาก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปขอให้คนอื่นเขาช่วย เข้าโครงการจำนำข้าวทีก็เอาเงินมาปลดหนี้ที แบบนี้ทั้งตัวเองไม่รอดและเดือดร้อนคนอื่นด้วย”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างเดือนร้อนคนอื่น รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีจากคนอื่นมาซื้อข้าวในโครงการรับจำนำมาเก็บไว้ แต่ละปีต้องใช้เงิน 300,000 ล้านบาทขึ้นไป นั่นคือเงินภาษีต้องไปกองไว้ปีละ 300,000 ล้านบาทขึ้นไปเพื่อช่วยชาวนา พอรับจำนำเสร็จแล้วก็ต้องนำไปขาย ซึ่งแต่ละปีรัฐบาลต้องขาดทุนอีกปีละ 100,000 กว่าล้านบาทเป็นอย่างน้อย

แสดงว่าแต่ละปีต้องเสียเงินฟรีๆ ให้ชาวนาเป็น 100,000 ล้านบาท แล้วชาวนาทำอะไรให้บ้าง ชาวนากลายเป็นภาระของสังคมและเบียดเบียนคนอื่น

เพราะฉะนั้น ชาวนาต้องทำนาให้ถูกวิธี คือ ต้องมีต้นทุนต่ำ ไม่ใช่ต้นทุนสูงแบบนี้ และทำงานเสร็จแล้วต้องมีเงินเหลือโดยไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น แต่ปัจจุบันชาวนาทำนาได้กำไรนิดเดียว ถ้าขาดทุนจะขาดทุนเยอะ ทำให้มีหนี้สินเป็นล้านบาท

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญระบุว่า ชาวนาแถวสุพรรณบุรี ถ้าทำนาปรัง 3 ครั้ง มีหนี้เป็นล้าน แต่ทำนา 2 ครั้ง มีหนี้เป็นแสน ถ้าทำครั้งเดียวมีหนี้เป็นหมื่น เรียกว่า “ยิ่งทำหนี้ยิ่งเยอะ” เพราะยิ่งทำก็ได้เครดิตหรือสินเชื่อเพิ่มขึ้น ยิ่งกู้ก็ยิ่งมีหนี้มาก แต่มีรายได้ไม่เพียงพอ เพราะตัวเองขาดทุนอยู่แล้วจากการทำนาแบบต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงเกิดโรคแมลงสูง เนื่องจากใช้วิธีเคมี ไม่ใช้ธรรมชาติ ทำให้โรคแมลงดื้อง่าย

ดังนั้น ปัญหาของชาวนาคือ มีต้นทุนสูง มีความเสี่ยงสูง และข้าวคุณภาพไม่ดี ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ขณะเดียวกันชาวนาไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก เพราะอันตราย ไม่อร่อย ต้องซื้อข้าวกิน ต้องพึ่งตลาด และตัวเองยังได้รับสารเคมีจากการทำนา มีโอกาสเป็นมะเร็ง เป็นเบาหวาน และเป็นโรคสารพัดเต็มไปหมดยิ่งกว่าคนเมืองเสียอีก

“ชาวนามีแต่ของเสียเต็มไปหมด และกระจายไปทั่วประเทศด้วย เพราะเวลาทำนาของเสียต่างๆ ไปกับน้ำ กับลม กับอากาศ คนซื้อข้าวกินก็กินข้าวที่ชาวนาไม่กิน จะเห็นว่าเป็นผลเสียทั้งประเทศ และไปเบียดบังภาษีที่คนอื่นต้องจ่าย แบบนี้ไม่มีอะไร ดีอย่างเดียวคือพวกนี้ประชานิยมง่าย รัฐบาลไหนสัญญาว่าจะให้ ชาวนาก็ไปลงคะแนนเลือกเขาหมด เพราะอ่อนแอ ต้องพึ่งรัฐบาล”

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

อาจารย์เดชาแสดงความเป็นห่วงว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานๆ ชาวนาจะไม่รอด ชาวนาจะสูญพันธุ์ เดี๋ยวเขาก็ยึดนาไปหมด ลูกหลานก็หนีหมด ถ้ารัฐบาลทิ้ง ชาวนาก็สูญพันธุ์หมด ถ้าชาวนาสูญพันธุ์ หรือหายไป ความมั่นคงทางอาหารก็จะไม่มี นอกจากนี้ ข้าวเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรม วัฒนธรรมบ่งบอกถึงความเป็นชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีข้าววัฒนธรรมก็สูญ และจะสูญชาติไปด้วย

“ที่เขาเรียกว่า ‘สิ้นนา สิ้นชาติ’ ก็แบบนี้แหละ” อาจารย์เดชากล่าวและบอกว่า ถ้าจะช่วยชาวนาต้องช่วยที่ต้นตอ คือการปลูกข้าวที่ถูกวิธี และต้องถูกทั้งทางโลกทางธรรม

ทางโลก คือ ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เสี่ยงต่อการเสียหาย คุณภาพดี ไม่ทำลายธรรมชาติ และชาวนาสามารถมีรายได้พอกับการครองชีพ ไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น ส่วนทางธรรม คือ ทำนาแบบไม่โลภ ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ ไม่ต้องไปทำร้ายผู้บริโภค ไม่ไปเอาของมีพิษให้คนอื่นกิน และตัวเองก็ไม่ทำบาป

“เราคิดแบบพุทธ คือ กำไรหรือขาดทุนอยู่ที่ปัจจัย ถ้าเราขายได้ถูกกว่าต้นทุนก็ขาดทุน ทั้งนี้ราคาข้าวเรากำหนดไม่ได้ เป็นปัจจัยภายนอกที่ขึ้นอยู่กับตลาด แต่ต้นทุนเรากำหนดได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเน้นที่ต้นทุนหรือสิ่งที่เรากำหนดได้ ถ้าปัจจัยข้างนอกดีเราก็ดีมากขึ้น ถ้าปัจจัยข้างนอกไม่ดีเราก็อยู่ได้เพราะต้นทุนต่ำ แต่ถ้าไม่ลดต้นทุนเลย รอให้ราคาข้าวแพงอย่างเดียวเมื่อไรจะได้ และถึงราคาข้าวจะแพง ถ้าเกิดโรคระบาดก็ไม่มีผลผลิตไปขาย แล้วจะมีรายได้อย่างไร เสียสองต่อเลย”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ทำนาวิธีใหม่ไม่มีการสอน ทุกอย่างเราต้องพัฒนาขึ้นมา แล้วเอาไปสอนชาวบ้าน ก่อนจะสอนต้องทำให้ได้ก่อน มีแปลงทดลอง ต้องทดลองจนรู้ได้ผลจริง เมื่อทดลองได้ผลจริงแล้วก็ไปหาชาวนาที่เขาต้องการลองจริงๆ ไปหาสัก 1-2 คน แล้วรับประกันให้เลยว่าถ้าไม่ได้ผลจะจ่ายชดเชยให้ ถ้าชาวนาคนนั้นผ่านได้ผลจริง ก็เอาไปสอนชาวบ้าน เพราะได้ผ่านการพิสูจน์จากชาวนาจริง ไม่ใช่เรา เพราะชาวนาเขามีปัจจัยบางอย่างควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมได้ ถ้าผ่านชาวนาไปแล้วปรับให้เข้ากับชาวนาส่วนใหญ่ก็ทำได้เลย

ชาวนาที่ทำนาตามวิธีใหม่แล้วประสบความสำเร็จคือ “คุณชัยพร พรหมพันธุ์” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เป็นเกษตรดีเด่นสาขาทำนา เมื่อปี 2538

“เราทำงานปี ’32 ลูกศิษย์เราได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นดีเด่นระดับชาติ ในวันพืชมงคลเมื่อปี 38 เมื่อคุณชัยพรทำได้แล้วเราก็สังเกตดูว่าเป็นแกอย่างไร ตอนนั้นแกเริ่มจากมีที่นา 25 ไร่ ตอนนี้มี 108 ไร่ เขาซื้อเพิ่มเพราะว่ารวยขึ้น ได้กำไรปีละเป็นล้านบาท”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ตอนแรกคุณชัยพรมีที่นา 25 ไร่ แต่ถ้ามีที่น้อยกำไรก็น้อย จึงเช่าเขาเพิ่มเป็น 90 ไร่ เมื่อได้ที่ทำนา 90 ไร่ มีกำไรปีละเป็นล้าน ก็ไปซื้อนาเพิ่มขึ้นๆ จนมีนาเป็นของตัวเอง 108 ไร่ แบบนี้แสดงว่าได้ผลแน่ เราก็เอาตัวอย่างนี้ไปสอนต่อ ปรากฏว่าไม่มีใครทำเลย

“อยู่นี่มาตั้งแต่ปี ’32 เพื่อนบ้านเราเป็นสิบรายไม่มีสักคนทำตามเลย เขาใช้เคมีหมดเลย มีคนหนึ่งอยู่แถวนี้ มีหนี้อยู่ล้านสาม (1,300,000 บาท) ต้องเอานามาขายเรา เราก็ต้องซื้อไว้ ไม่นั้นจะโดนยึดนา แต่เหลือนาเท่าไรเขาก็ทำนาใช้เคมีเหมือนเดิม นี่ขนาดจะโดนยึดนายังไม่เข็ด”

ทั้งนี้ วิธีทำนาของมูลนิธิข้าวขวัญไม่ใช้เคมี ผลผลิตจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ และแมลง แต่อาจารย์เดชายืนยันว่า ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยมากกว่าใช้วิธีเคมีแน่นอน เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าเขา 2-3 เท่า คือต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อตัน คือ ทำนาได้ข้าว 1 ตันข้าวเปลือกมีต้นทุน 2,000 บาท ขณะที่ชาวนาทั่วไปต้นทุนอย่างน้อย 6,000 บาทขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณชัยพรขายข้าวได้ 2,000 บาทต่อตัน ก็เสมอตัว ถ้าขายได้ 4,000 บาทต่อตัน จะกำไร 100% และถ้าขายได้ 6,000 บาท ก็กำไร 200% ดังนั้นที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ก็กำไรเกิน 10,000 บาท หรือขายได้ 13,000 บาท แต่ต้นทุน 2,000 บาท ก็กำไรตันละ 11,000 บาท

เหมือนเมื่อปี 2551 ตอนนั้นข้าวขึ้นไปราคา 13,000 บาท คุณชัยพรได้กำไรทั้งหมด 2 ล้านบาท ปีนั้นไม่มีโครงการจำนำข้าวแต่ข้าวแพงขึ้นเอง และเมื่อปี 2554 น้ำท่วม นาที่สุพรรณ ส่วนใหญ่ปรกติจะท่วมปลายเดือนกันยายน แต่ปีก่อนแค่วันที่ 10 กันยายน น้ำก็มาแล้ว คุณชัยพรต้องเกี่ยวข้าววันที่ 10 กันยายน เกี่ยวหลังจากนี้ไม่ได้ ทำให้ได้ข้าวเขียวมาก ขายได้ราคาไม่ดีเพียง 4,000 บาท จากราคาข้าวในตอนนั้น 8,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้คุณชัยพรจะขายได้ 4,000 บาท แต่ก็ได้กำไร 2,000 บาท เนื่องจากมีต้นทุนเพียง 2,000 บาท แต่คนอื่นขาดทุนเพราะต้นทุนสูงกว่า

ที่มา: http://t0.gstatic.com

จากความสำเร็จของคุณชัยพร ซึ่งทำนาตามวิธีของมูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้อาจารย์เดชามั่นใจว่า โมเดลการทำนาแบบคุณชัยพรจะทำให้ชาวนาไทยอยู่รอด และสามารถแข่งขันสู้ต่างประเทศได้หากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (เออีซี) เนื่องจากต้นทุนต่ำ แต่ปัญหาคือ ชาวนาคนอื่นๆ ไม่ทำตามโมเดลคุณชัยพร แม้แต่ชาวนารอบบ้านคุณชัยพรก็ไม่ทำตาม ทั้งที่เห็นชัดเจนว่าทำแบบคุณชัยพรแล้วกำไรดี ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เป็นโรคแมลง

“ทุกอย่างดีหมด แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ทำหรอก เพราะทำแบบนี้ต้องเลิกใช้ปุ๋ยใช้ยา เขาเลิกไม่ได้ เขาบอกทำใจไม่ได้ นอนไม่หลับ ที่ทำใจไม่ได้ เพราะมีโฆษณาทุกวัน คนเมื่อถูกใส่โปรแกรมที่เขาเรียกว่า ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ คุณต้องทำแบบนี้ดี ก็ลังเลว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ดีสิ โฆษณาแบบนี้ชาวนาไม่รอดหรอก เพราะคนเราไม่ได้อยู่ที่เหตุผล แต่อยู่ที่การให้ข้อมูล ผมพยายามส่งเสริมมาหลายปีแล้ว จะได้ผลก็เฉพาะกับคนที่ฉลาดจริงๆ เห็นโฆษณาแล้วไม่เชื่อ แต่คนส่วนใหญ่ 99.99% ไม่ฉลาดแบบนี้”

ทั้งนี้ อาจารย์เดชาบอกว่า ทำงานที่สุพรรณมากว่า 20 ปี แต่เครือข่ายลูกศิษย์ของมูลนิธิข้าวขวัญยังมีน้อยมาก หรือมีจำนวนเป็นเพียงหลักพันคนเท่านั้น แต่ชาวนามีตั้ง 18 ล้านคน

มีลูกศิษย์ที่มารับแนวคิดของมูลนิธิข้าวขวัญจากทั่วสารทิศ มีทั้งชาวนาแท้และไม่แท้ ชาวนาแท้ก็คือคนที่ทำนาเป็นอาชีพ ส่วนชาวนาไม่แท้คือคนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกรุงเทพฯ ดูรายการ “ฉันอยากเป็นชาวนา” ของอุ้ม (สิริยากร พุกกะเวส) ก็อยากมาเรียนที่นี่ ซึ่งโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เปิดหลักสูตรสำหรับคนกลุ่มนี้ 2 วัน 2 คืน เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

“มาตั้งแต่เย็นวันศุกร์ สอนแค่ 2 วันก็ทำนาได้แล้ว และพาไปเยี่ยมชมนาคุณชัยพรครึ่งวันด้วยซ้ำ กลับเย็นวันอาทิตย์ไปทำนาเป็นแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่มีที่นาก็ให้เราหาซื้อที่นาให้ เราก็ไปหาซื้อที่นาชาวบ้านให้ กลุ่มนี้จะเยอะขึ้น เพราะเขาอยากอิสระจากงานประจำ”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกล่าวว่า เรามีทางเลือกที่ถูกต้องให้แล้ว แต่ชาวนาไม่เลือกเพราะถูกล้างสมอง เชื่อว่าถ้าไม่ถูกล้างสมองและโฆษณาได้เช่นกันในเวลาที่เท่าๆ กันชาวนาก็คงเลือก ถ้าไม่ให้โฆษณาก็ไม่เหมือนกัน แต่เราไม่มีเงินเหมือนบริษัทขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลง แบบนี้จึงเหมือนถูกมัดมือชก เขามีเงินทุนโฆษณาได้ทั้งวันทั้งคืน

“จริงๆ โครงการจำนำข้าวไม่ควรจะมีอยู่ เพราะทำให้ชาวนาไปหวังผิดๆ รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ห้ามไม่ให้โฆษณาก็ช่วยได้มากแล้ว จากนั้นชาวนาจะไปดูกันเองว่าทำนาแบบไหนที่ไหนดีก็ทำตามเขา ง่ายนิดเดียว ไม่เช่นนั้นจะแข่งกับเวียดนามกับพม่าได้อย่างไร ถ้าจะแข่งขันได้รัฐบาลต้องปล่อยให้คนของเราสู้กับเขาได้จริง ไม่ใช่อุ้ม ถ้าอุ้มจะเอาเงินที่ไหนมามากมาย เพราะไม่ได้ช่วยแต่ชาวนาอย่างเดียว”

ปัญหาของชาวนานั้น นอกจากเรื่องต้นทุนสูง มีความเสี่ยงโรคแมลง และคุณภาพข้าวแย่ จนทำให้ชาวนาเป็นหนี้สินล้นพ้น ต้องขายที่นาและลูกหลานทิ้งแล้ว ปัญหาเรื่องการที่ชาวนาไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่เขาทำนา ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข เพราะทำให้ชาวนามีต้นทุนเพิ่มขึ้น และไม่มีความมั่นคงในอาชีพ แต่อาจารย์เดชามองว่า ปัญหาเช่าที่นาเป็นเรื่องหลัง เพราะดูอย่างคุณชัยพรก็เช่าที่นา แล้วทำไมสามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้ตั้ง 108 ไร่ เพราะเขามีกำไร

ดังนั้น ถ้าชาวนามีกำไรก็สามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้เช่นกัน แต่ตอนนี้ยิ่งเช่ายิ่งขาดทุนก็ยิ่งไปใหญ่ เรื่องปัญหาเช่าที่นาก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแบบที่ว่า ทำนาแบบผิดๆ เรื่องนี้ต้องเร่งแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก

“การทำนาแบบผิดๆ เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่รัฐบาลกลับไม่ช่วยอะไรเลย มัวแต่จะไปช่วยที่ไม่ได้ผล คือไปช่วยอะไรที่ถ้าบริษัทปุ๋ยและบริษัทยาฆ่าแมลงไม่ว่าก็ช่วย อย่างโครงการจำนำข้าว บริษัทไม่ว่าและยิ่งชอบ แต่ถ้าห้ามโฆษณา บริษัทไม่ชอบ เพราะขายของไม่ได้ กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับบริษัท ถ้ารัฐบาลจะช่วยชาวนา ก็ควรห้ามโฆษณา ไม่ต้องสนใจบริษัทว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน”

เพราะฉะนั้น หากยังปล่อยให้ชาวนาถูกล้างสมองแบบนี้ไปเรื่อยๆ และรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาเช่นนี้ อาจารย์เดชาฟังธงว่าคงต้องให้ชาวนา “ล่มสลาย” ไปก่อน เพราะสุดท้ายคือตัวชาวนาเองต้องช่วยตัวเอง ถ้าชาวนาไม่ช่วยตัวเองก็ไม่มีใครช่วยได้ จะรอให้รัฐบาลหรือใครมาช่วยคงไม่มีทาง

ดังนั้นชาวนาต้องช่วยตัวเองถึงจะรอด แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะรอด และจะเป็นคนนอกวงการที่ต้องการอิสระที่จะมาแทนชาวนาแท้ ซึ่งปริมาณอาจจะน้อยลง แต่คุณภาพจะเพิ่มขึ้น

มิฉะนั้นอาจ “สิ้นนา สิ้นชาติ” ก็คราวนี้

วิธีการและเทคนิคการทำนาของคุณชัยพร

1. การทำเทือก ลูบเพื่อกดให้ระดับเรียบ นามีน้ำ ให้ไล่ดินก่อนแล้วลาก ตั้งระดับได้ มีกระดานลูบหลังเสมอเลย หากท้องนาเสมอเรียบ จะใช้น้ำเข้านาน้อย ไม่เปลืองน้ำค่าสูบน้ำ คุมน้ำคุมหญ้าได้ง่าย และป้องกันน้ำแห้งเป็นจุดๆ ในที่ดอนน้ำเข้านาวันที่ 7-25 ของวันปลูกข้าว หลังจากวันที่25 แล้ว ปล่อยให้น้ำในนาแห้ง

2. การหว่านข้าวเอาข้าวเปลือกแช่ลงไปในน้ำในปลอกบ่อที่เตรียมไว้ใส่น้ำ 70%ที่ใส่เชื้อไตรโคเดอร์ม่าไว้แล้ว เอาข้าวเปลือกลอยๆ ออกทันที เพราะเป็นข้าวเบาข้าวล้ม ไม่มีน้ำหนัก แช่ไว้ 1 คืน แล้วตักใส่กระสอบปุ๋ย เอาไปวางที่นาได้เลย วางกระสอบไว้เป็นจุดๆ ทั่วแปลงการหว่านใช้เครื่องพ่นหว่านโดยให้เครื่องพ่นอยู่ห่างจากตัวผู้พ่นประมาณ 7 เมตร อัตราการใช้ข้าวเปลือก 2.5 ถัง/ไร่ หว่านไม่หมดก็ไม่เป็นไร หากไม่แช่เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ข้าวเปลือกจะขึ้นรา ข้าวที่แช่แล้ว 1 คืน วางทิ้งไว้ในกระสอบชื้น จะเกิดตุ่มตา หากความชื้นหมด ตาจะหด จะใช้อีกก็จะนำกระสอบข้าวเปลือกแช่น้ำอีก เรียกตุ่มตาใหม่ก่อนเอาไปใช้งาน

3. แก้ปัญหาเพลี้ยไฟในนาข้าว ใช้สมุนไพรไล่แมลง ก็จะเหลือตัวหำตัวเบียน คอยกินเพลี้ย อีกเทคนิคหนึ่งคือ อย่าหว่านข้าวหนาไป จากเดิม 4-5 ถัง/ไร่ หนาไป ลดเหลือ 2.5 ถัง/ไร่ หากต้นข้าวหนา แดดจะร่ม มีร่มเงามาก เพลี้ยชอบความชื้นและร่มเงา หากหว่านให้บาง เพลี้ยจะหมดไป

4. การรักษาดินนา ให้ตรวจดินดูโดยการเดินย่ำนา หากนุ่มเท้าดินจะดี เพราะประกอบด้วยฟางจุลินทรีย์มากมาย หากเป็นดินแย่ จะแข็งกระด้าง เดินไม่สบายเท้า มักเกิดจากการเผานาแบบรุนแรง คือ เผาขณะลมนิ่ง ยามจำเป็นต้องเผาฟาง จะใช้เทคนิคการเผาฟางแบบลอกผ่าน โดยเลือกช่วงลมแรงๆ ไฟจะเผาฟางแบบผ่านๆ เผาไม่หมด

5. การทำเทือกโดยวิธีควักดิน รถควัก ทำงาน 10ไร่/วัน ดินนิ่มและยกเท้าเปื้อน ข้าวอายุ 45 วัน เปิดน้ำทิ้งก่อนปลายข้าวเหลืองให้แห้งก่อน รถทำเทือกแบบที่ขายกัน จะตัดดินจนเละ ดินข้างใต้ถูกตัดเสมอกันหมด และพื้นแข็ง สู้ควักเป็นจุด จะดีกว่า

6. ใส่ปุ๋ยขี้หมูช่วงข้าวอายุ 45 วันช่วง 45 วัน หากข้าวออกรวงช้า ให้เอาขี้หมูแห้งใส่กระสอบวางขวางน้ำเข้านา ให้น้ำชะล้าง ละลายออกไป ใช้ประมาณขี้หมู 1 กระสอบ/ไร่ หนที่ 2 อายุข้าว 50-55 วัน ใส่ปุ๋ยอีกหากเมล็ดข้าวเล็กไป ให้บำรุงเมล็ดข้าวโดยฉีดฮอร์โมน พ่นฮอร์โมนก่อนข้าวออกรวง 1 ครั้ง หลังออกรวงแล้ว ฉีดพ่นฮอร์โมน 1ครั้ง(เกสรตัวเมียข้าวจะเปิดปากช่วง 9 โมงเช้าถึงบ่าย 2ช่วงนี้ ห้ามฉีดพ่นฮอร์โมนหรือปุ๋ยใดๆ เพราะเมล็ดข้าวจะอมสารเข้มข้นเข้าไป เมล็ดจะแตก)

7. ปราบหอยเชอรี่ด้วยนก หอยเชอรี่ไม่มี เพราะนกกินหมด หลังจากทำเทือกแล้ว ปล่อยน้ำแห้ง นกจะลงมากินหอยในนา นกกินหลังทำเทือกเลย กิน 1- 2 วัน หอยก็หมด แล้วนกจะไม่มาลงนาอีก เพราะอาหารหมด หากในนามีหอยอยู่ มีต้นกล้าอ้วน นกจะเดินย่ำกล้าอ่อน ทำให้ต้นกล้าตายได้ พอนกกินหอยหมด ก็จะไม่มาลงนาอีก เพราะรู้ว่าอาหารหมดแล้ว จากนั้นก็ค่อยหว่านข้าวลงนา

8. ดูแลแมลงศัตรูข้าว มีแมลงมีหนอน ช่วงแรก หนอนจะห่อใบข้าว และมีเพลี้ยกระโดด ในนาข้าวอินทรีย์มีแมลงบ้าง แต่ไม่เสียหายใบหักไปบ้างไม่เป็นไร อย่ามากินรวงข้าว ก็แล้วกัน เพราะเราทำนาเองรวงข้าวเมล็ดข้าว ไม่ใช่เอาใบข้าว หนอนกินใบลงนามากๆ นกจะรู้ แล้วลงมาหาหนอน กินแล้วนกจะเหยียบรวงข้าวหัก ต้องฉีดสมุนไพร ได้ผลแน่นอนอยู่ที่ใจว่ามั่นใจในสมุนไพรไล่แมลง สมุนไพรต้องเก็บสะสม ที่ใช้บ่อยๆ ก็มี บอระเพ็ด ผักคูณ สะเดา ยาสูบ (ยาฉุน) หางไหล (โลตั๋น)

9. การจัดการข้าวพันธ์การเก็บข้าวพันธุ์จากการทำนาของตัวเอง เป็นพันธุ์สุพรรณ 60ดูที่รวงแก่หน่อย เมล็ดสุกเหลืองทั้งรวง ไม่มีต้นหญ้าอยู่ใกล้ๆ เกรงว่าจะเอาเมล็ดหญ้าปนมาด้วย เกี่ยวเสร็จ ก็เอามาตากแดด 1-2วัน ขึ้นอยู่กับแสงแดดอ่อนแก่ จัดเก็บใส่ถุงปุ๋ยไว้ การใช้ข้าวพันธุ์ไปปลูก ต้องเก็บอย่างน้อย 3 สัปดาห์ (21)วัน จึงเอาไปใช้ได้เลยช่วง 30-45 วัน %การงอกของเมล็ดข้าวจะสูงสุด การเก็บข้าวพันธุ์เอง ช่วยทำให้ประหยัด ค่าเมล็ดพันธุ์ได้ และสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวเองได้ และอาจควบคุมความเก่าใหม่ของเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ หรือมีข้าวอื่นปลอมปน

10. จงทำใจเมื่อทำนาอินทรีย์ คนเริ่มทำนาอินทีรย์ใหม่ๆ จะมีปัญหามาก หากต้นข้าวไม่งามใบไม่เขียว ปุ๋ยเคมีพอช่วยได้บ้างในช่วงแรกๆ แต่อย่ามาก เพราะชาวนาจะชินต่อการทำให้ใบข้าวเขียว แต่สารเคมีฆ่าแมลงให้ห้ามเด็ดขาด ข้าวใบงามเกินไป เมล็ดลีบ ให้สังเกตดู เขาเรียกว่าบ้าใบ ข้าวใบรวงสั้น เมล็ดจะแกร่ง เมล็ดจะเต็มเปลือกใบข้าวนาอินทรีย์ใบจะคมบาดขาลายไปหมด

11. แนวคิดจูงใจตัวเองให้ทำเองดีกว่าจ้างทำนาทั้งปี 2 ครั้ง ช่วง 3 ว่าง3 เดือน รอน้ำท่วม นับวันแต่ละรอบทำนา วันทำงานจริง 30วัน นั้นคือ ทำงานทั้งปี แค่ 60 วัน/ปี วันว่างมีมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงแต่ขี้เกียจทำ ไปจ้างเขาหมด ลองทำเองบ้าง เราทำเองอาจเร็วกว่า เพราะเราทำไปคิดไปว่าจะลดขั้นตอนงานให้น้อยลงอย่างไร สำรวจแปลงนาไปด้วย ประสิทธิภาพมากกว่า ระมัดระวังมากกว่า เพราะเป็นเจ้าของเอง การเดินก็ไม่เหยียบต้นกล้าจนเสียหาย คนอื่นเขาระวังน้อยกว่า การบนไว้กับตัวเองและภรรยา ว่าหากเกิน 100 ถัง/ไร่ (1 เกวียน/ไร่)จะขอส่วนเกินไปซื้อเครื่องประดับทองคำมาแต่งตัวแล้ว หากทำไม่ถึงก็อด ท้าท้ายตัวเอง หากจ้างคนอื่น ไม่มีทางทำได้มาก ต้องทำเอง จึงเกิดพลังใจในการทำงาน มากกว่าจ้าง

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนาเกษตรอินทรีย์พอเพียง 105 ไร่

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนาเกษตรอินทรีย์พอเพียง 105 ไร่
Chaiyaporn Pormpun : Eco-Organic Farmer
‘ซูเปอร์ชาวนา’ เกษตรอินทรีย์พอเพียง
การที่โลกตระหนกกับราคาน้ำมันและผลความตระหนกนี้ ยังส่งผลกระทบลูกโซ่มาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ราคาข้าวของไทยและประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ทั่วโลก

มีราคาแพงขึ้นพรวดพราดเกือบหนึ่งเท่าตัวจากราคาที่เคยซื้อขายกันมา ชาวนาพากันขมีขมันปลูกข้าว เจ้าของที่ดินแย่งชิงพื้นที่ปลูกจากชาวนาที่เช่าที่ดิน หรือชาวนาที่มีที่ดินของตัวเองพร้อมจะลงมือปลูกข้าวในช่วงราคางาม แต่ก็มาประสบกับปัญหาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงราคาแพงขึ้นพรวดพราด ในอัตราการเร่งตัวสูงกว่าราคาข้าวเสียอีก

ช่วงจังหวะนี้มีข้อเสนอเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากเจ้าของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยรายหนึ่งที่หยิบยื่นแนวคิดบรรษัทอุตสาหกรรมการเกษตรและการทำนาแบบ Contract Farming โดยอ้างว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของราคาสินค้าเกษตรของไทย ที่ราคาตกต่ำมานานจะได้รับราคาและข้อเสนอที่ดียิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา

อีกฟากหนึ่ง กลุ่มเอ็นจีโอก็เสนอความคิดว่า ช่วงเวลานี้เป็น “โอกาส” ที่ชาวนาไทยจะ “ปลดแอก” ตนเองจากการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงได้สำเร็จเมื่อไหร่ เมื่อนั้นต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาไทยก็จะลดลงฮวบฮาบ เกิดผลกำไรงอกงาม และเป็นไทแก่ตัวไม่เป็นหนี้เป็นสินในที่สุด ซึ่งเท่ากับพลิกสถานการณ์เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างวิถีชีวิตชาวนาไทยโดยสิ้นเชิง พอๆ กับการก้าวสู่เป็นส่วนหนึ่งของบรรษัทอุตสาหกรรมตามข้อเสนอของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่เช่นกัน

เวลาเดียวกัน ก็มีข่าวการฆ่าตัวตายของลุงชาวนา ที่โดนเพลี้ยกระโดดถล่มนาข้าวเสียยับเยินในช่วงข้าวราคาแพงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นช่วงที่ข้าวออกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว เป็นกรณีตัวอย่างของชาวนาที่ชอกช้ำในชีวิต ที่ไม่สามารถปลดเปลื้องหรือสลัดตัวให้พ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ของชีวิตชาวนาส่วนใหญ่ได้

แล้วเป็นชาวนาแบบไหน อย่างไรล่ะ ถึงจะสามารถยืนหยัดไม่เป็นหนี้เป็นสิน ไม่ตกอยู่ใต้วงจรอุบาทว์ เป็นกระดูกสันหลังของชาติที่แข็งแรงแข็งแกร่ง ไม่ใช่กระดูกสันหลังผุๆ อย่างทุกวันนี้

วันนี้เรามีชาวนาตัวอย่างที่ไม่เป็นทาสปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง และเป็นชาวนาเงินล้านมาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนา ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

หนุ่มใหญ่วัย 47 เกษตรกร
ตัวอย่างที่เคยคว้ารางวัลชาวนาดีเด่นระดับชาติมาแล้วเมื่อปี 2538 ถึงแม้จะมีรางวัลระดับชาติการันตีสมัย 12 ปีก่อน แต่ทุกวันนี้ชัยพรก็ยังเป็น “ซูเปอร์ชาวนา” ถึงขนาดเคยออกรายการสารคดีมาแล้ว หรือออกทีวีรายการต่างๆ อีกมากมาย

โดยเฉพาะในช่วงข้าวแพง ชีวิตของชัยพรดูเหมือนจะได้รับสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นผู้ที่สามารถสร้างรายได้ปีละนับล้าน จากการปลูกข้าวทำนา 105 ไร่ โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์เป็นหลักใช้ปุ๋ยขี้หมูขี้วัว หันหลังให้ปุ๋ยเคมีที่วันนี้แพงกว่าราคาทองแทบจะสิ้นเชิง และไม่ใช้ยาฆ่าแมลงยกเว้นยาฆ่าหญ้าที่จะใช้ทำลาย “ข้าวดีด” ที่ถือว่าเป็นวัชพืชในนาเท่านั้น เนื่องจากยังคิดค้นหาสมุนไพรอื่นๆ มากำจัดวัชพืชชนิดนี้ไม่ได้

ที่น่าอัศจรรย์มากไปกว่านั้น ก็คือในผืนนาจำนวนประมาณ 105 ไร่นั้น ชัยพรได้ลงมือลงไม้ไถคราด เพาะหว่านปลูกข้าว เก็บเกี่ยวกับภรรยาเพียง 2 คนเท่านั้น แทบไม่มีการจ้างแรงงานหรือขอแรงชาวบ้านมาช่วยลงแขกแต่อย่างใด

นอกจากนั้น การลงนาซึ่งมีฤดูกาลเพาะปลูกปีละ 2 ครั้ง ยังใช้เวลาในการทำงานฤดูละแค่ 30 วัน หรือหนึ่งเดือนเท่านั้น ตกแล้วปีหนึ่งชัยพรและภรรยาจะใช้เวลาทำนาเพียงแค่ 2 เดือน ทำให้มีเวลาเหลือในการทำ “รถควัก” สิ่งประดิษฐ์ที่ชัยพรคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้งานในนาตนเอง และยังทำขายให้กับชาวนาอื่นๆ ที่สนใจไว้ใช้งานอีกด้วย

ผลผลิตข้าวที่ชัยพรสามารถทำได้ต่อไร่ เฉลี่ยแล้วจะได้ข้าวประมาณกว่า 1 เกวียน ชัยพรยกตัวอย่างว่า ที่นาของเขาแปลงขนาด 22 ไร่ เพิ่งขายข้าวได้ 2.8 แสนบาท หรือได้ข้าวประมาณ 22 เกวียน ถือว่าเป็นผลผลิตที่ดีทีเดียว หักต้นทุนแล้วจะมีกำไรแสนกว่าบาท ขณะที่ต้นทุนถือว่าน้อยมาก อย่างอีกแปลงหนึ่งนา 5 ไร่ ลงทุนไปแค่ 7 พัน แต่ขายข้าวได้ถึง 6 หมื่นบาท

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ชัยพรเล่าว่า เขาทำนาตั้งแต่เด็ก ทำตามพ่อตามแม่ไม่มีที่นาของตัวเองและนาที่ทำก็ใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตไม่ได้ดีเท่าที่ควร รายได้ไม่พอกับค่าปุ๋ย ค่ายา จนต้องเลิกทำนาหันมาเป็นลูกจ้างตามอู่ซ่อมรถ เป็นลูกจ้างโรงสีข้าวได้ค่าแรงวันละ 35 บาท ต่อมาหันมาทำนาอีกครั้ง และหันมาใช้วิถีทางเกษตรอินทรีย์ใช้ขี้วัวขี้หมูเป็นหลัก แม้บางครั้งอาจจะมีการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 บ้าง ถ้าผืนนาตรงนั้นมีปัญหาให้ผลผลิตไม่ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งเขายอมรับว่านาของเขาไม่ใช่เกษตรอินทรีย์เต็ม 100%

หลังจากทำนาที่ยึดแนวเกษตรอินทรีย์มา 4-5 ปี ผลงานเข้าตาคนในหมู่บ้าน อบต.ในหมู่บ้านส่งชื่อเขาเข้าประกวดชาวนาดีเด่นระดับจังหวัด ระดับภาค ก็ชนะเลิศได้ที่หนึ่งเรื่อยมา จนกระทั่งส่งชื่อแข่งขันระดับชาติเมื่อปี 2538 เขาก็ได้รางวัลชนะเลิศอีก ได้รางวัลมาครองเป็นความภาคภูมิใจในครอบครัวและคนทั้งจังหวัดสุพรรณบุรี

“พอทำนาได้ข้าวดีก็มีเงินเหลือ ก็เลยขอซื้อที่นาที่เคยเช่าทำนาและซื้อไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีที่นาแปลงโน้นแปลงนี้ รวมแล้วประมาณ 104-105 ไร่”

ที่นาขนาด 100 ไร่ แต่ทำไมแค่สองคนผัวเมียก็ทำได้แล้ว ชัยพรเล่าว่า นาของเขาเป็นนาหว่าน ใช้ข้าวพันธุ์สุพรรณ 60 เกือบทั้งหมด การทำนาขนาดนี้ได้โดยไม่ต้องจ้างคนอื่น ต้องมีเครื่องมือดีมาเป็นตัวช่วย โดยเฉพาะ “รถฟัก” ซึ่งหมายถึงรถควักดินที่ชัยพรประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยดัดแปลงมาจากรถคูโบต้าเก่าๆ ซึ้อมาไม่กี่พันบาท ใช้วิ่งในนาเป็น “ควายเหล็ก” ที่แข็งแรงยิ่งกว่าควายสี่ขาจริงๆ รถควักนี้จะควักดินในนาที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วขึ้นมาใหม่ และทำให้ตอฟางข้าวที่หลงเหลือหลังเก็บเกี่ยวคลุกเคล้าจมลงไปในดิน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ฟางตอซังข้าวย่อยสลายเร็วกลายเป็นปุ๋ยในนาอีกที เท่ากับเป็นการลดใช้ปุ๋ยไปในตัว

“รถฟัก” จะวิ่งไปมา 3 เที่ยว ให้ดินซุยฟูขึ้นมา หลังจากนี้ก็จะต้อง “ลูบเทือก” อันหมายถึงการปรับพื้นที่ให้ราบเสมอกัน โดยใช้รถฟักตัวเดิมแต่เปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นเข้าไป เพราะถ้าหากพื้นนาไม่เสมอกันเป็นแอ่งบ้าง ดอนบ้าง ก็จะทำให้ต้นข้าวได้น้ำไม่เท่ากัน บางต้นได้น้ำมาก บางต้นได้น้ำน้อย เพราะอยู่บนดอนผลผลิตที่ออกมาก็จะไม่ดี หลังจากนั้นถึงจะหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงนา โดยช่วงระหว่างที่ต้นข้าวยังเป็นต้นอ่อน 10-20 วันแรกต้องทุ่มเทเวลาดูแลมากเป็นพิเศษ น้ำต้องมีให้เพียงพอ

“ถ้าเราทำเองใช้รถฟักวิ่งนี่แค่ครึ่งวันก็ได้แล้ว 10 ไร่ ใช้น้ำมันประมาณวันละ 10 ลิตร แต่ถ้าจ้างเขา เขาคิดไร่ละ 280 บาท 10 ไร่ ก็เท่ากับ 2,800 บาท ถ้าทำเองเสียค่าน้ำมันวันละ 300 บาท ประหยัดไปแล้ว 2,500 บาท”

นอกจากนี้ การกำจัด “ข้าวดีด” ที่ต้องใช้ไม้ยาวๆ มีเชือกร้อยเข้ากับลูกรอกปลายไม้ โดยเชือกนี้จะชุบน้ำยาฆ่าหญ้าไว้แล้ว เสร็จแล้วก็จะเดินไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เชือกที่ชุบน้ำยาลูบไปตามลำต้นข้าวดีด ซึ่งจะมีต้นยาวสูงกว่าข้าวปกติ ตรงจุดไหนโดนน้ำยาเพียงไม่กี่วันต้นข้าวดีดก็จะแห้งตาย ถ้าจ้างเขากำจัดข้าวดีดตกไร่ละ 50 บาท แต่ชัยพรลงมือเองโดยประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเอง ที่ช่วยผ่อนแรงในการรั้งไม้ที่ยาวกว่า 3 วา ประหยัดต้นทุนไปได้อีกเยอะ

ชัยพรบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่คิดเสียดายเงินค่าแรง แต่คนที่รับจ้าง “ลูบยา” ข้าวดีดมักจะทำไม่ถูกใจ พร้อมกับชี้ไปที่นาที่อยู่ติดๆ กัน ซึ่งต้นข้าวมีสีน้ำตาลเข้มตัดกับสีเขียวของที่นาของชัยพร โดยบอกว่านาโน้นจ้างคนมาลูบยากำจัดข้าวดีด แต่ลูบไม่ดีทำให้ไปโดนต้นข้าว ต้นข้าวก็เลยเสียหาย ข้าวแปลงที่เห็นนั้นเก็บเกี่ยวไม่ได้แล้ว แต่ถ้าหาก “ลูบยา” เอง ต้นข้าวก็จะไม่โดนยาไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนการใส่ปุ๋ยให้นา โดยใช้ปุ๋ยขี้หมูซื้อมาคันรถละ 800 บาท ใส่กระสอบแล้วเอาไปวางกักตรงจุดที่น้ำจะไหลเข้านา ปุ๋ยก็จะค่อยๆ ละลายไปกับน้ำล้วนได้ผลดี ต้นข้าวเจริญงอกงาม ที่สำคัญประหยัดกว่าใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยยูเรียสูตร 15-15-15 ที่นาอื่นๆ จะหว่านแบบแต่งหน้า ซึ่งกระสอบหนึ่งหว่านแป๊บเดียวก็หมด เปลืองกว่าใช้ปุ๋ยขี้หมูหลายเท่า และราคาก็แพงกว่าขี้หมูหลายเท่าตัวด้วย

การกำจัดศัตรูพืชทุกวันนี้ชัยพรไม่ได้ซื้อยาฆ่าแมลง อย่างเช่นพวกเพลี้ยกระโดดเหมือนนาอื่นๆ เพียงแต่ฉีดสมุนไพร ซึ่งได้จากสะเดา หางไพล ยาสูบ ขมิ้นชัน เม็ดมันแกว ไพล หัวกลอย หนอนตายหยาก หมักเพียงแค่ครั้งเดียว ปีหนึ่งใช้ได้ถึง 2 ครั้งของการทำนา สมุนไพรฆ่าแมลงนี้จะฉีดเพียงไม่กี่หน เพราะถ้าฉีดมากตัวห้ำตัวเบียน ซึ่งเป็นตัวกำจัดแมลงตามธรรมชาติก็จะพลอยตายไปด้วย

“ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีนี่ ถ้าไม่อัดยาเท่าไหร่ก็จะคุมไม่อยู่ สู้เพลี้ยไม่ได้ เพราะข้าวมันสูงถ้าเพลี้ยมันกระโดดลงเกาะโคนต้น ติดน้ำฉีดเท่าไหร่ก็ไปกับน้ำหมด และการฉีดยาเป็นสารเคมีนี่ ตัวห้ำตัวเบียนมันตายหมด ไอ้ตัวห้ำตัวเบียนมันก็เหมือนภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเรา ถ้าไปทำลายก็จะทำให้เราไม่มีภูมิคุ้มกันยังไงยังนั้น” ชัยพรเล่า

ทุกวันนี้มีคนจากทุกสารทิศ มาดูแบบอย่างการทำนาของชัยพรตลอดไม่ว่างเว้น ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แตกต่างจากชาวนาทั่วไปเกือบทั้งหมดของประเทศ ก็คือต้นทุนที่แตกต่าง ถ้าต้นทุนสูงชาวนาก็จะไม่เหลืออะไร

“ชาวนาส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ทำตัวเป็น “ผู้จัดการนา” อะไรก็จ้าง ไอ้โน่นก็จ้าง ไอ้นี่ก็จ้างเขาหมด ไม่ลงมือเอง ไม่ยอมเหนื่อย แล้วมันจะเหลืออะไร ขายข้าวไปก็ไปเป็นค่าจ้างค่าแรง ค่ายาค่าปุ๋ยหมด”

ชัยพรยังให้ข้อคิดอีกว่า “การเป็นชาวนานี่ ต้องอ่อนหมายถึงศึกษาธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติ ถ้าไม่เข้าถึงธรรมชาติทำยากเพราะการทำนาต้องอาศัยธรรมชาติ”

คำนวณคร่าวๆ ทุกวันนี้ชัยพรจะมีรายได้ตกเดือนละประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นจำนวนรายได้ที่คิดจากราคาข้าวราคาเดิม ไม่ใช่ราคาใหม่ที่ตกเกวียนหนึ่งเฉียด 3 หมื่นบาท

“ถ้าใครให้ไปทำงานเดือนละ 2-3 หมื่นไม่เอาหรอก เพราะต้องทำงานทุกวันสู้ทำอย่างนี้ไม่ได้ แค่ปีละ 2 เดือนก็พอแล้ว แต่ต้องทำจริงเหนื่อยจริงๆ เป็นชาวนาจริงๆ ไม่ใช่ผู้จัดการนา”

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

-ข้าวในนาของชัยพรออกรวงหนักอึ้ง

-ข้าวดีด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวป่าดั้งเดิม แต่เมล็ดจะลีบและร่วงก่อนเวลาอันควร เป็นวัชพืชต้องกำจัด

-ซูเปอร์ชาวนากำลังขับเคี่ยวกับ “รถฟัก” หรือรถควักดินที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง

-เครื่อง “ลูบยา” กำจัดข้าวดีดที่ชัยพรคิดทำขึ้นเองจากวัสดุเหลือใช้ เช่น รอกด้านปลายทำจากแกนม้วนวิดีโอ ใช้งานได้ดีจนมีชาวบ้านทำตาม

-น้ำฮอร์โมนไข่เอาไว้ฉีดตอนข้าวออกรวง

-เชื้อจุลินทรีย์ป่าที่เก็บมาจากป่าห้วยขาแข้ง เพาะเลี้ยงไว้ในถังซิเมนต์เอาหญ้าปกคลุมไว้เป็นเชื้อต้นแบบ ใช้ได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมดใครมาขอก็ให้ไป

ปริญญาทำนา เก๊ก ชัยพล ยิ้มไทร

รูปภาพ

เครื่องมือลูบข้าวดีด การกำจัดข้าวดีด ของลุงชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน

การกำจัด “ข้าวดีด” ที่ต้องใช้ไม้ยาวๆ มีเชือกร้อยเข้ากับลูกรอกปลายไม้ โดยเชือกนี้จะชุบน้ำยาฆ่าหญ้าไว้แล้ว เสร็จแล้วก็จะเดินไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เชือกที่ชุบน้ำยาลูบไปตามลำต้นข้าวดีด ซึ่งจะมีต้นยาวสูงกว่าข้าวปกติ ตรงจุดไหนโดนน้ำยาเพียงไม่กี่วันต้นข้าวดีดก็จะแห้งตาย ถ้าจ้างเขากำจัดข้าวดีดตกไร่ละ 50 บาท แต่ชัยพรลงมือเองโดยประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเอง ที่ช่วยผ่อนแรงในการรั้งไม้ที่ยาวกว่า 3 วา ประหยัดต้นทุนไปได้อีกเยอะ

ชัยพรบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่คิดเสียดายเงินค่าแรง แต่คนที่รับจ้าง “ลูบยา” ข้าวดีดมักจะทำไม่ถูกใจ พร้อมกับชี้ไปที่นาที่อยู่ติดๆ กัน ซึ่งต้นข้าวมีสีน้ำตาลเข้มตัดกับสีเขียวของที่นาของชัยพร โดยบอกว่านาโน้นจ้างคนมาลูบยากำจัดข้าวดีด แต่ลูบไม่ดีทำให้ไปโดนต้นข้าว ต้นข้าวก็เลยเสียหาย ข้าวแปลงที่เห็นนั้นเก็บเกี่ยวไม่ได้แล้ว แต่ถ้าหาก “ลูบยา” เอง ต้นข้าวก็จะไม่โดนยาไม่มีปัญหาอะไร