“ทางเลือกสำหรับเกษตรกร” ต้นทุนต่ำ กำไรดี เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม”
โดย นายสุกิจ ติดชัย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ 8 ระดับ 8
ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) เป็นทางเลือกทางหนึ่งของเกษตรกร ผู้ที่มีความนิยมชมชอบการเลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการเลี้ยงสุกรที่เลี้ยงกันโดยทั่วไปมีต้นทุนการผลิตสูง วัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้องซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) จะเน้นการใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และในท้องถิ่นเป็นหลัก หาง่าย ราคาถูก แม้กระทั่งวัสดุที่เหลือใช้ต่าง ๆ ก็สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก จึงทำให้สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพืชกับสัตว์ สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เมื่อมีการปลูกพืชเราสามารถใช้พืชหรือเศษพืชผัก และผลไม้ต่าง ๆ กลับมาทำเป็นอาหารหมูหลุมได้ ในทำนองเดียวกัน พืชก็สามารถใช้ประโยชน์จากหมูหลุมได้เช่นกัน ด้วยการใช้วัสดุที่อยู่ในหลุมไปเป็นปุ๋ย เพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นอาหารของพืชได้ จึงช่วยทำให้การผลิตทั้งพืชและสุกรมีต้นทุนการผลิตลดน้อยลง เกษตรธรรมชาติ คือการนำเอาสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ มาใช้ในการผลิตทางการเกษตร ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี จึงทำให้ได้อาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การทำการเกษตรด้วยวิธีนี้จะเริ่มต้น จากการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่น ได้แก่การผลิตเชื้อราขาว (Indigenous Micro Organism : IMO) โดยใช้หลักการที่ว่าอยู่ที่ไหนให้ผลิตเชื้อจุลินทรีย์จากที่นั่น จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไม่สามารถมองเป็นด้วยตาเปล่าได้ มีประโยชน์ต่อธรรมชาติ ช่วยย่อยสลายวัสดุที่มีตามธรรมชาติ ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน กำจัดกลิ่นเหม็น น้ำเสีย ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม จุลินทรีย์สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
1. จุลินทรีย์กลุ่มที่ให้ประโยชน์ ส่วนใหญ่อยู่ตามบนผิวหน้าดิน ต้องการอากาศในการหายใจ ได้แก่ กลุ่มสังเคราะห์แสง แลคโตบาซิลลัส ยีสต์ และแอสเปอร์จิลลัส จุลลินทรีย์กลุ่มนี้ สามารถสังเคราะห์แสง ผลิตกรดแลคติค และตรึงไนโตรเจนในอากาศได้
2. จุลินทรีย์กลุ่มที่ให้โทษ จะอาศัยอยู่ในดินลึก ไม่ต้องการอากาศในการหายใจ ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และไส้เดือนฝอย
ข้อดีของการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม)
1. สามารถใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่น หาง่าย ราคาถูก
2. ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากมูลสุกรและน้ำเสีย
3. สามารถเลี้ยงในชุมชนได้ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากมูลสุกรและแมลงวัน
4. ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดคอกและบำบัดน้ำเสีย
5. มีระบบการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในคอกหรือหลุมสุกร
6. มูลสุกรและวัสดุในหลุมซึ่งถูกหมักและย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีนำไปเป็นปุ๋ยให้กับพืช ปรับปรุงดินบำรุงดิน หรือจำหน่าย
7. ต้นทุนการผลิตต่ำโดยเฉพาะต้นทุนด้านอาหารสามารถลดได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
8. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
การเลี้ยงหมูหลุมจะให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ถูกหลักวิชาการจะทำให้การเลี้ยงหมูหลุมไม่มีปัญหาไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม มลภาวะไม่เป็นพิษ ตลอดจนสุขอนามัยของผู้เลี้ยงและสุกรดี มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
1. การสร้างโรงเรือนและคอกสำหรับเลี้ยงหมูหลุม
2. การเตรียมพื้นคอกหมูหลุม
3. การผลิตเชื้อราขาว หรือจุลินทรีย์ท้องถิ่น (Indigenous Micro Organism:IMO)
4. การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืช มี 3 ชนิด
4.1 การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียวและสด ( Fermental Plant Juice : FPJ)
4.2 การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากผลไม้สุก (Fermental Fruit Juice : FFJ)
4.3 การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสมันไพร (Orient Herb Hormane Nutrial : OHN)
5. การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าว มี 3 ชนิด
5.1 การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับเปลือกไข่
5.2 การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับถ่านกระดูกสัตว์
5.3 การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับนมสด
6. การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ จาก กุ้ง หอย ปู ปลา ไส้เดือน และรกสุกร อย่างใดอย่างหนึ่ง
7. การทำอาหารหมักสำหรับหมูหลุม
8. การทำน้ำหมากฝรั่งสำหรับหมูหลุม
9. การเลี้ยงและการจัดการหมูหลุม |
Like this:
Like กำลังโหลด...
Related